วาฬบรูด้ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Balaenoptera edeni อยู่ในวงศ์ Balaenoptiidae จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals) ที่อาศัยอยู่ในทะเล ขนาดของตัวเต็มวัยยาวประมาณ 15 – 16.5 เมตร และมีน้ำหนักตัวสูงสุด 40 ตัน อายุยาวนานถึง 50 ปี
ลักษณะของวาฬบรูด้า
ลักษณะเด่นของวาฬบรูด้า ลำตัวเป็นสีเทาดำ รูปร่างค่อนข้างเพรียวลัมีลายแต้มสีขาวบางบริเวณใต้คาง และใต้คอ บางตัวอาจมีแถบสีจาง ๆ บนแผ่นหลัง บางตัวมีจุดสีจาง ๆ ทั่วทั้งตัวคล้ายสีเทาลายกระสีขาว ส่วนหัวจะมีแนวเป็นสันนูน 3 สัน บริเวณใต้ปากด้านล่างมีร่องยาวประมาณ 40-70 ร่อง พาดจากใต้ปากไปจนถึงสะดือ เป็นวาฬชนิดที่มีแผ่นกรองห้อยลงมาจากปากบน โดยมีจำนวนแผ่นกรองประมาณ 250 – 370 แผ่น แผ่นที่ยาวที่สุดอาจมีความยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร ส่วนซี่บนของแผ่นกรองจะค่อนข้างหยาบ
ครีบจะมีลักษณะเล็กและปลายแหลม ครีบหลังเป็นรูปโค้งค่อนไปทางส่วนปลายหาง แพนหางจะวางตัวตามแนวราบ ส่วนตาและหูมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับขนาดตัว หูจะอยู่ด้านหลังลูกตา มีลักษณะเป็นช่องเล็ก ๆ จึงสังเกตเห็นได้ยาก มีช่องสำหรับหายใจ 2 ช่อง และมีสันที่หัว 3 สัน ส่วนหัวจะเรียกว่า Rostrum และขากรรไกรล่างมีลักษณะโค้งและยาว
เสียงของวาฬบรูด้า
สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำอย่างวาฬบรูด้าจะมีความสามารถในการใช้เสียง และการรับฟังเสียงดีเยี่ยม เสียงร้องของวาฬใช้เพื่อการสื่อสาร หาคู่ และล่าอาหาร ปกติหูของมนุษย์จะรับฟังเสียงได้ที่ความถี่ช่วง 18 Hz-20 kHz โดยระดับเสียงที่ต่ำกว่า 18 Hz จะเรียกว่า Infrasound ส่วนเสียงที่สูงกว่า 20 kHz จะเรียกว่า Ultrasound ซึ่งเสียงของวาฬบรูด้าจะเป็นเสียงที่มีความถี่ต่ำ (20 – 950 Hz) มนุษย์จะได้ยินเป็นเสียงครวญคราง หรือเสียงหอน การใช้เสียงของวาฬจะมีการเปลี่ยนแปลงความถี่ และระยะเวลาตามสัญญานที่ต้องการส่งออกไป
เนื่องจากวาฬบรูด้าเป็นวาฬกลุ่ม Baleen ที่ไม่มีฟัน ดังนั้นจึงมีคอหอย แต่จะไม่มีเส้นเสียงเหมือนมนุษย์ คอหอยไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตเสียง และคาดว่าอวัยวะส่วนที่เรียกว่า Cranial sinus คืออวัยวะสำคัญต่อการผลิตเสียง และนักวิทยาศาสตร์พบว่าวาฬบรูด้าจะไม่มีการหายใจออกเลยในขณะที่กำลังร้องเพลง อาจยาวนานถึง 20 นาที ซึ่งแสดงว่าวาฬมีการหมุนเวียนอากาศภายในร่างกาย ในขณะที่กำลังเปล่งเสียงร้อง และพบว่ามีเฉพาะเพศผู้เท่านั้นที่สามารถร้องเพลงได้
การจำแนกชนิดของวาฬบรูด้า
โดยรวมวาฬชนิดนี้มีลักษณะภายนอกคล้ายกันมาก และมีชื่อเรียกสามัญว่า Brydes whale ซึ่งรวมวาฬ 3 ชนิดไว้ด้วยกัน ได้แก่ Balaenoptera brydei, Balaenoptera edeni และ Balaenoptera omurai นักวิทยาศาสตร์บางคนจะเรียกวาฬกลุ่มนี้รวมว่า Brydes whale complex อีกด้วย แต่คาดว่าในอนาคตอาจมีการตั้งชื่อสามัญแยกวาฬทั้ง 3 ชนิดต่อไป
วงจรชีวิตของวาฬบรูด้า
การผสมพันธุ์จะเป็นลักษณะเกิดขึ้นภายในแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่น ๆ และคลอดลูกเป็นตัว โดยตัวเมียจะตั้งท้องนาน 11 – 12 เดือน วาฬแรกเกิดจะมีความยาว 3.4 – 4 ม. และมีน้ำหนัก 500 – 900 กก. ลูกวาฬจะหย่านมเมื่อมีอายุได้ 6 เดือน ขนาดเมื่อโตเต็มจะมีความยาว 14 – 15 ม. น้ำหนัก 12-20 ตัน โดยเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย และมีอายุยืนประมาณ 50 ปี ช่วงวัยเจริญพันธุ์คือช่วงอายุ 8 – 13 ปี ให้ลูกได้ครั้งละ 1 ตัว ในทุก ๆ 2 ปี
การกระจายพันธุ์ของวาฬบรูด้า
วาฬบรูด้าพบได้เกือบทั่วโลก โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เขตร้อนและเขตกึ่งร้อน หรือบริเวณเขตละติจูด 40 องศาเหนือถึงใต้ และไม่พบหลักฐานว่ามีการอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นระยะไกล โดยในประเทศไทยมีรายงานการพบวาฬบรูด้า 2 ฝั่งทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน โดยฝั่งอ่าวไทยสามารถพบวาฬชนิดนี้ใกล้ชายฝั่งเพียงแค่ 4 – 30 กิโลเมตรเท่านั้น มักเป็นวาฬประจำถิ่น ว
าฬบรูด้าที่พบในอ่าวไทยหรืออ่าวไทยตอนบน จะพบได้ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีไปจนถึงจังหวัดชลบุรี สามารถพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน หรือประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม เนื่องจากน้ำจืดที่ไหลมาจากแม่น้ำจะนำเอาธาตุอาหารต่าง ๆ พาลงไปในทะเล และตกตะกอนเป็นหาดเลน พวกฝูงปลาที่เป็นอาหารของวาฬจะมารวมกันเป็นจำนวนมาก วาฬบรูด้าจึงมาเข้ามาอยู่ใกล้ชายฝั่งมากเป็นพิเศษ บางครั้งอาจพบห่างชายฝั่งเพียง 1 – 2 กม.
การผสมพันธุ์ของวาฬบรูด้า
จากการสังเกตพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของวาฬชนิดนี้ พบว่าตัวผู้จะว่ายน้ำไล่ต้อนวาฬตัวเมีย พร้อมกับใช้หางตีน้ำกระจาย และหายใจแรง ตัวเมียจะว่ายออกห่าง แล้วตัวผู้ก็จะตามไปประชิดตัว พฤติกรรมนี้อาจนานประมาณ 1 – 2 ชม. ในขณะผสมพันธุ์วาฬจะอยู่ในลักษณะเอาด้านท้องเข้าหากัน (Belly-to-belly position) คล้ายโลมาและพยูน
แหล่งอาหารของวาฬบรูด้า
ปลาวาฬบรูด้าจะกินปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงแต่ว่ายน้ำไม่เร็วนัก ตัวอย่างเช่น ปลากะตัก ปลาอกกะแล้ ปลาอีโกย (ปลาหลังเขียวชนิดหนึ่ง) ปลาทูขนาดเล็ก ปลาสีกุน และปลาข้างเหลือง รวมทั้งกุ้งเคยขนาดใหญ่ในสกุล Acetes spp. ด้วย พฤติกรรมการกินของวาฬบรูด้าจะไล่ต้อนฝูงปลาให้ขึ้นมาบริเวณผิวน้ำ จากนั้นจะอ้าปากขยายร่องใต้คางให้กว้าง และพุ่งเข้าฮุบเหยื่อ อาจอยู่ในท่าตั้งส่วนหัวขึ้นเหนือผืนน้ำ หรือตะแคงตัวด้านข้าง แต่ละครั้งอาจกินมากถึง 600 – 660 กิโลกรัม
พฤติกรรมที่น่าสนใจของวาฬบรูด้า
- การพุ่งตัวขึ้นเหนือผิวน้ำ เป็นการว่ายน้ำไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ก่อนจะโค้งตัวให้พ้นผิวน้ำ แล้วบิดลำตัวและทิ้งตัวลงน้ำอย่างสวยงามราวกับอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก มักเอาส่วนหัวหรือด้านลำตัวลงก่อน
- พฤติกรรมการกินอาหารแบบ Lunge Feeding โดยการพุ่งส่วนหัวขึ้นมาเหนือน้ำ พร้อมทิ้งขากรรไกรล่างลงไปที่ผิวน้ำ จากนั้นจึงฮุบเหยื่อ 1 ครั้งหรือหลาย ๆ ครั้ง จากนั้นจึงจกตัวลงให้น้ำ เพื่อให้น้ำไหลผ่านซี่กรองและกลืนอาหารที่ฮุบได้ลงในท้อง จากนั้นจึงจะขึ้นมาหายใจแล้วกินต่อไปจนอิ่ม
- การตีหาง ใช้เพื่อหาอาหาร ส่งสัญญาณหรือสื่อสารกับวาฬตัวอื่น ๆ การแพนหางตีน้ำจากด้านล่างหรือด้านข้าง อาจตี 1 ครั้งหรือหลาย ๆ ครั้ง พฤติกรรมการใช้หางตีน้ำมักเกิดขึ้นร่วมกับการพุ่งตัวขึ้นเหนือน้ำ
- การกินอาหารแบบตะแคงข้าง หรือ Side Feeding เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการกินอาหาร โดยอ้าปากตะแคงไปกับผิวน้ำ มักทำเมื่ออยู่ในน้ำตื้นประมาณ 4 – 5 เมตร และกินเหยื่อที่ว่ายน้ำค่อนข้างเร็ว
- การใช้ฟองอากาศดักจับเหยื่อ หรือ Bubble-net feeding เป็นวิธีการเมื่อวาฬอยู่ร่วมกันหลายตัว แล้วจะช่วยกันพ่นฟองอากาศขึ้นมาเป็นวงกลมเพื่อล้อมรอบฝูงปลา หรือเหยื่อที่ต้องการ ฟองอากาศจะทำหน้าที่คล้ายตาข่ายที่ดักให้ฝูงปลามาอยู่รวมกันในวงล้อม ทำให้วาฬสามารถกินปลาได้ครั้งละหลาย ๆ ตัวพร้อมกันในครั้งเดียว
ความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ของวาฬบรูด้า
วาฬบรูดาเป็นสัตว์ที่เคยถูกล่าจนเกือบจะสูญพันธุ์มาแล้ว เพราะในอดีตน้ำมันของวาฬมีค่ามาก รวมถึงการล่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร จนมาช่วงกลางทศวรรษ 1960 จึงเริ่มมีองค์กรออกมาปกป้องวาฬบรูด้าอย่างจริงจัง ในปี 1986 คณะกรรมการควบคุมการล่าวาฬระดับนานาชาติ หรือ IWC ได้ออกคำสั่งห้ามการล่าวาฬในเชิงพาณิชย์ทุกกรณีส่งผลให้การล่าวาฬลดลง
ในปัจจุบันคาดว่ามีวาฬเหลืออยู่ประมาณ 2,300 ตัว และคาดการณ์ว่าจำนวนวาฬบรูด้ามีอัตราเพิ่มขึ้นค่อนข้างคงที่คือประมาณปีละ 7% ถือว่าเป็นจำนวนที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะในอดีตเคยมีวาฬชนิดอยู่เกือบ 300,000 ตัว ซึ่งแตกต่างกันมากกับจำนวนในปัจจุบัน
ในส่วนของประเทศไทยวาฬบรูด้าได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 16 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประเมินว่าในทะเลของประเทศไทยนั้นมีวาฬบรูด้าเพียง 50-70 ตัวเท่านั้น ถือเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ อันเกิดจากภาวะการขาดแคลนแหล่งอาหาร การสูญเสียที่อยู่อาศัย การติดอวนของชาวประมง การเกิดอุบัติเหตุกับเรือ มลพิษทางเสียง มลพิษทางน้ำ อุณหภูมิโลกที่ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น รวมถึงขยะพลาสติกที่มนุษย์มีการใช้งานกันอยู่ทุก ๆ วัน
คาดว่าทุก ๆ ปี ขยะพลาสติกที่ไหลลงทะเลจะมีมากกว่า 11 ล้านเมตริกตัน ทำให้ 59% ของวาฬได้รับผลกระทบจากขยะเหล่านี้ เนื่องจากกินขยะพลาสติกเข้าไป และทำให้ระบบทางเดินอาหารล้มเหลวจนเสียชีวิต
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : วาฬ : ภัยเงียบที่มองไม่เห็น กับจุดสูญสิ้นของเสียงเพรียกแห่งท้องทะเล
ความสำคัญของวาฬต่อระบบนิเวศ
วาฬบรูด้าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล เพราะเป็นนักล่าที่อยู่จุดสูงสุดในยอดพีรามิดห่วงโซ่อาหารของมหาสมุทร วาฬบรูด้าจึงเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดความอุดมสมบรูณ์ของมวลชีวิต หากที่ใดพบวาฬได้มากก็แสดงถึงแหล่งอาหารที่มีมากตามไปด้วย
การกินและล่าอาหารของวาฬจะช่วยรีไซเคิลสารอาหารบริเวณพื้นผิวของทะเล ซึ่งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืช ซึ่งแพลงก์ตอนพืชคืออาหารของสัตว์ชนิดเล็ก ๆ ในทะเลอีกหลายชนิด เกิดเป็นวัฏจักรของห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์ (self-sustaining cycle)
ในปัจจุบันเริ่มมีธุรกิจการล่องเรือชมวาฬบรูด้า เพราะวาฬชนิดนี้สามารถพบได้ทั่วไปในท้องทะเลไทย นับเป็นมูลค่าหลายล้านบาทในแต่ละปี ซึ่งก็ต้องอาศัยการให้ความรู้เพื่อการทำธุรกิจนี้อย่างยั่งยืน ทั้งการจอดเรือใยระยะไกล การงดใช้เสียงรบกวน และการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยว ทั้งนี้เพื่อให้วาฬบรูด้าอยู่คู่ท้องทะเลไทยไปอีกอย่างยาวนาน