‘เพรียงทะเล’ คงไม่ใช่ชื่อเรียกที่น่าฟังนักสำหรับหลายคน บางคนอาจก็เข็ดขยาดรูปร่างคล้ายไส้เดือนของมัน หรือบางครั้งก็อาจเป็นท่วงท่าเคลื่อนไหวชวนขนลุก ทว่าถ้าล่วงรู้สักนิดว่าตัวมันมีหลากหลายรูปลักษณ์และสายพันธุ์ บางทีความคิดของเราอาจเปลี่ยนไป เพรียงทะเลไม่มีดีที่มีชีวิตคล้ายดอกสมบูรณ์เพศเท่านั้น แต่ยังสามารถกลายสภาพตัวเองให้เป็นได้ทั้งอัญมณีแห่งธาราสมุทรที่งดงามและปรสิตแสนอัปลักษณ์ได้ในคราเดียว
หากคุณลัดเลาะตามชายหาด คุณอาจพบเหล่าเพรียงหินติดเกาะเรียงรายตามโขดหินก็เป็นได้ แต่คงน้อยคนนักจะรู้เรื่องของมันมากไปกว่าอาหารชูกำลังของเหล่าชาวบ้าน Privatespacescience2017 จึงอยากตีแผ่ส่วน Unknown & Unseen เหล่านั้นให้เห็นเด่นชัดขึ้นผ่านลิสต์สรุป 4 สิ่งลึกลับใต้ท้องสมุทรที่ ‘เพรียงทะเล’ ไม่เคยบอกคุณ กันค่ะ
Unseen Stories: อารัมภบทเรื่องลึกลับของเพรียงทะเล
ก่อนร่ายยาวรวมเรื่องลึกลับ เราอยากให้ผู้อ่านรู้จักเพรียงทะเลให้มากกว่านี้เสียก่อน
เพรียงทะเล (Barnacle) เป็นสัตว์ตระกูลหอยประเภทสัตว์ขาปล้อง (Arthropod) ในไฟลัม Arthropoda ซึ่งมีมากกว่า 1,220 สายพันธุ์ทั่วโลกและพบมากตามแถบน้ำทะเลขึ้นลงในประเทศสเปน ฝรั่งเศสและโปรตุเกส ด้วยลักษณะลำตัวเป็นปล้องอ่อน มันจึงสร้างเปลือกแข็งแหลมคมไว้ห่อหุ้มเพื่อปกป้องตัวเองจากศัตรู โดยจุดนี้เองที่นักวิทยาศาสตร์จัดประเภทมันเป็นสัตว์มีเปลือก (Crustaceans) เฉกเช่นเดียวกับสัตว์จำพวกกุ้ง กั้งและปู อย่างไรก็ตาม เจ้าเพรียงทะเลมีวงจรการแปลงร่างทุกช่วงอายุแทบไม่ต่างจากหนอนผีเสื้อ ซึ่งมีขั้นตอนเปลี่ยนผ่าน 3 ช่วง ได้แก่
- Embryo: เป็นช่วงแบ่งเซลล์สร้างร่างกายหลังการปฏิสนธิ
- Nauplius: หลังผ่านระยะสร้าง ตัวมันจะกลายสภาพเป็นแพลงก์ตอนเล็กจิ๋วระดับไมโครอย่าง Microscopic Plankton ซึ่งมีระยางสามคู่ช่วยลอยตัวตามกระแสน้ำ
- Cyprid: เมื่อใช้ชีวิตเป็นแพลงก์ตอนสักระยะหนึ่ง ตัวมันจะเริ่มลงหลักปักฐานด้วยหาวัตถุไว้จับเกาะ ซึ่งจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ก็ได้ จากนั้นจึงปล่อยสาร Cyprid cement ยึดเกาะและสร้างเปลือกหุ้มแข็งคล้ายหินคอยป้องกันร่างกาย
หลังจากรู้จักเพรียงทะเลโดยคร่าวแล้ว เราและผู้อ่านก็พร้อมสำรวจเรื่องลึกลับ ซึ่งผู้เขียนจะไล่เรียงประเด็นตามลำดับด้านล่างเลยค่ะ
1. เพรียงทะเลเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตเก่าแก่ที่สุด
แม้จะตัวเล็กจ้อย แต่อายุอานามแทบเทียบเท่ายุคไดโนเสาร์เลยทีเดียว ซึ่งมีอายุราว 330 – 320 ล้านปี ทั้งนี้จากการสำรวจหลักฐานพบว่าซากฟอสซิลอย่าง Praelepas โดยภายหลังได้รับการประเมินอายุว่าอยู่ช่วงยุคคาร์บอนิเฟอรัสตอนกลาง (Mid – Carboniferous) นอกเหนือจากความเก่าแก่ของมันที่เหลือรอดมาถึงปัจจุบัน เพรียงทะเลยังเป็นตัวบอกใบ้สำคัญไว้สำหรับประเมินความลึกของน้ำ ซึ่งหากพื้นที่บริเวณใดมีเพรียงกระจายตัวอยู่มาก นั่นอาจอนุมานได้ว่าจุดสำรวจนั้นคือแหล่งน้ำตื้น
2. เป็นสัตว์สารพัดโภชนาการ
เพรียงทะเลไม่เพียงแต่เป็นสัตว์เก่าแก่ที่อยู่คู่มนุษย์มานาน ทว่ายังเป็นสัตว์ซึ่งอุดมด้วยสารพัดสรรพคุณที่หากใครลิ้มลองแล้วจะมีกำลังวังชาดั่งคำเล่าลือ ช่วยเสริมสร้างระบบประสาทและเพิ่มประสิทธิภาพระบบภูมิคุ้มกันและไหลเวียนเลือดควบคู่กัน นอกจากช่วยบำรุงร่างกาย ยังช่วยลดน้ำหนักได้อย่างดี อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราจะได้หลังการกินเพรียงทะเลมีหลากหลายประการ ซึ่งสรุปเป็นภาพกว้างได้ ดังนี้
- โปรตีนสูง: ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ กระดูและผิวหนังจากการเสื่อมสภาพตามอายุขัย ทั้งยังควบคุมปฏิกิริยาเคมีที่ไหลเวียนในร่างกาย ซึ่งช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ดียิ่งขึ้น
- คาร์โบไฮเดรตน้อย: เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนักหรือทำ Ketogenic diet ซึ่งหมดห่วงเรื่องไขมันสะสมในร่างกายหากกินอาหารปริมาณมาก
- มี Omega 3: ประกอบด้วย DHA และ EPA ซึ่งจำเป็นต่อสมองและจอประสาทตา เพิ่มการประมวลและรับส่งข้อมูล (Cognitive function) ได้ฉับไว โดยงานวิจัยจาก Albany College of Pharmacy and Health Sciences ได้ชี้ให้เห็นว่ากรดไขมันทั้งสองชนิดมีส่วนช่วยทุเลาความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD: Learning disability) และโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างดี
- คอลเลสเตอรอลต่ำ: จากงานวิจัยของ The National Center For Complementary and Integrative Health ได้เปิดเผยว่าการบริโภคหอยและสัตว์จำพวกกุ้งเป็นเวลาอย่างน้อย 4 ครั้งต่อสัปดาห์มีแนวโน้มเสียชีวิตจากโรคหัวใจในอัตราต่ำกว่า
- อุดมด้วยแร่ธาตุ: ทั้งแคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม เซเลเนียม ไอโอดีนและอื่น ๆ ซึ่งช่วยควบคุมความดันและระดับน้ำตาลในเลือด อีกทั้งมีสารต้านอนุมูลอิสระคอยต้านสารก่อมะเร็ง
- ปลอดกรูเต็น: เป็นอาหารสุขภาพทางเลือกสำหรับแพ้กลูเต็น ซึ่งพบมากในข้าวสาลีและธัญพืชชนิดอื่น ช่วยลดอัตราเกิดโรคเซลิแอค (Coeliac disease) โรคซึมเศร้า และภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง
3. บาดคมและอันตราย
หลายต่อหลายครั้งที่เหล่าชาวประมงและนักดำน้ำได้รับบาดแผลจากเปลือกแหลมคมของเหล่าเพรียง แม้เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กจ้อยที่พบได้ตามโขดหินใกล้ท้องสมุทร ทว่าหากประมาทอาจส่งผลถึงชีวิตได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นคมบาดลึกจนเหวอะหวะ อวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายฉีกขาด หรือแม้แต่การติดเชื้อย่อมเกิดขึ้นได้ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการดำน้ำใกล้บริเวณโขดหิน หรือสัมผัสสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลเท่าที่จำเป็น
4. เพรียงบางชนิดเป็นปรสิต
ใครจะรู้ว่าเพรียงทะเลบางชนิดยังสามารถกลายสภาพเป็นปรสิตเกาะตามสัตว์ทะเลอื่นได้อีก โดยเฉพาะกลุ่ม Rhizocephala ซึ่งมากกว่า 50% มักแทรกซึมและทำรังกระจายตัวตรงตำแหน่งที่วางไข่ของตัวปูได้นานตั้งแต่ 1 – 2 ปี จนหลงเข้าใจว่าเหล่าปรสิตเหล่านั้นเป็นลูกของมัน และแน่นอนว่าเพรียงทะเลชนิดนี้ย่อมส่งผลให้มันเป็นหมันแบบถาวร ไม่เพียงเท่านั้น การที่เพรียงปรสิตหรือที่รู้จักในชื่อ Sacculina คอยดูดสารอาหารสำคัญออกจากตัวย่อมลดอัตราการเจริญเติบโตของปู
บทสรุป
แม้ว่าในกาลอันใกล้นี้เพรียงทะเลยังไม่ได้มีบทบาทด้านระบบนิเวศน์ทางท้องทะเลมากเท่าสัตว์ใหญ่อย่างฉลามวาฬและสัตว์ทะเลพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ทว่าเพรียงทะเลก็ยังจำเป็นสำหรับเป็นอาหารทางเลือกทดแทนที่ให้สารอาหารไม่ยิ่งหย่อนกว่าสัตว์หายาก นั่นคือการรักษาสมดุลของการล่า ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นการแพร่พันธุ์และกระจายตัวได้รวดเร็ว นั่นเองก็จัดเป็นสิ่งที่ป้องกันนักล่าตัวฉกาจอย่างมนุษย์ให้ห่างจากการล่าสัตว์จำเป็นมิใช่หรือ