“ด้วงกว่าง” แมลงที่ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีความแข็งแรงมากสุดในโลกเมื่อทำการเทียบกับขนาดตัวของมันเอง อีกทั้งยังถือเป็นแมลงปีกแข็งที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับต้น ๆ บวกกับความสวยงามของนอเขาที่งอกออกมาและมีหลายสายพันธุ์ทั่วโลก ทำให้สัตว์ชนิดนี้มักถูกพูดถึงกันบ่อยครั้ง ใครที่มีความชอบส่วนตัวหรืออยากทำความรู้จักมากขึ้น ก็มีข้อมูลดี ๆ มาบอกต่อกันแล้ว
ข้อมูลทั่วไปของด้วงกว่าง
“ด้วงกว่าง” หรือ Rhinoceros Beetle ซึ่งในเมืองไทยก็มีชื่อพื้นถิ่นที่ชาวบ้านเรียกกันอยู่พอสมควร อาทิ แมงกว่าง แมลงกว่าง กว่างโซ้ง กว่างแซม กว่างอีลุ้ม กว่างกิ หรือแมงคามในภาษาอีสาน เป็นต้น ขณะที่ภาคเหนือบางแห่งจะทำการเรียกชื่อตามลักษณะที่พบเจอ เช่น กว่างรักน้ำใส จะมีสีดำออกแดง หรือ กว่างรักน้ำปู๋ จะมีสีดำสนิท
ด้วงกว่างมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Xylotrupes Gideon Linneaus” ถูกจัดอยู่ในวงย่อย Dynastinae อันดับ Coleoptera และวงศ์ใหญ่ Scarabaeidae
ปัจจุบันมีการค้นพบด้วงชนิดนี้ทั่วโลกมากกว่า 1,500 ชนิด แยกออกเป็น 225 สกุล ส่วนใหญ่พวกมันมักอาศัยอยู่ในเขตป่าดิบชื้น พบได้เยอะมากในแถบตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก คอสตาริกา รวมถึงตอนเหนือของโคลัมเบียและเวเนซูเอล่า ขณะที่เมืองไทยของเราก็มีด้วงกว่างหลายสายพันธุ์กระจายอยู่ตามเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วไป รวมถึงการอาศัยอยู่ตามธรรมชาติด้วย
ลักษณะที่พบได้ทั่วไปของด้วงกว่าง
แม้จะบอกว่าด้วงกว่างมีอยู่มากกว่า 1,500 ชนิด แต่จุดเด่นที่ทำให้สังเกตได้ทันทีว่าเป็นแมลงชนิดนี้และแตกต่างกว่าสายพันธุ์อื่นชัดเจนอยู่ตรงด้วงกว่างตัวผู้จะมีขนาดใหญ่ เขายาว แข็งแกร่ง น้ำหนักตัวโตเต็มที่ประมาณ 18-28 กรัม ความยาวระหว่าง 55-80 มิลลิเมตร ปีกพัฒนาจนกลายเป็นเปลือกแข็ง 1 คู่ ห่อหุ้มลำตัวบริเวณด้านบนเอาไว้ สีภายนอกจะมีความดำคล้ำหรือออกน้ำตาลเข้มสะท้อนแสง แต่บางสายพันธุ์ก็อาจมีสีอ่อนกว่าเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับซีดหรือจาง
บริเวณส่วนหัวจะมีนอเขางอกยื่นออกตั้งแต่ 1 คู่ ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของแต่ละตัว ระดับความสั้น-ยาวแตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์และชนิด เขายาวที่สุดจะมีหน้าที่สำหรับต่อสู้และป้องกันอันตราย ปกติจะงอกบริเวณด้านบนกับด้านล่างของหัว ซึ่งจำนวนนอเขาที่พบได้บ่อยจะมีทั้งสิ้น 5 เขา
ด้วงกว่างตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ชัดเจน และไม่มีเขางอกออกมา บางตัวอาจมีได้บ้างแต่สั้นมาก บริเวณลำตัวจะขรุขระ จับแล้วสากมือ มีขีดร่อง บางสายพันธุ์ตรงส่วนท้องปกคลุมด้วยไรขนสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาล (ทั้งตัวผู้และตัวเมีย) หนวดคล้ายกับใบไม้
เมื่อแรกเกิดด้วงชนิดนี้มักอาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ที่ล้มตาย เมื่อเริ่มโตตัวผู้จะทำหน้าที่ในการต่อสู้บนต้นไม้ ซึ่งการต่อสู้จะใช้เขายาวที่สุดดันกันหากฝ่ายใดสามารถยกฝั่งตรงข้ามให้หงายท้องได้ก่อนจะเป็นผู้ชนะมีสิทธิ์ได้ตัวเมียหรืออาหารไปครอบครอง อย่างไรก็ตามนิสัยพื้นฐานของพวกมันมักไม่ค่อยดุร้ายมากเท่าใดนัก
อายุขัยตั้งแต่เป็นหนอนจนถึงช่วงโตเต็มที่ประมาณ 3-4 ปี ทว่าหากด้วงที่อยู่บริเวณป่าที่ไม่อุดมสมบูรณ์มากนักพวกมันก็มักมีอายุได้ราว 2 ปี เนื่องจากต้นไม้ที่ล้มตายจะสลายตัวเร็ว อาหารหลักของพวกมันซึ่งเนื้อไม้หมดไป บางตัวที่ยังอาศัยอยู่ได้จะกินผลไม้แทน
วงจรชีวิตของด้วงกว่าง
ไม่ว่าด้วงกว่างสายพันธุ์ใดก็ตามจะมีวงจรชีวิตคล้าย ๆ กันนั่นคือ เมื่อตัวเมียได้รับการผสมพันธุ์แล้วจะทำการวางไข่ จนเกิดเป็นตัวอ่อนมีลักษณะเป็นหนอน จากนั้นจึงเติบโตสู่ดักแด้อาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ที่ล้มผุพังหรือพื้นดินที่มีความอุดมสมสมบูรณ์ หนอนของด้วงชนิดนี้จะมีขนาดใหญ่ตัวป้อมสั้นกว่าสายพันธุ์หรือแมลงอื่น ๆ ตรงส่วนกะโหลกสีเข้มมากกว่าลำตัว (ลำตัวมักเป็นสีขาวหรือเหลือง) ชอบขดงอตัวคล้ายตัว C ช่องหายใจอยู่ตรงข้างลำตัว ปากจะมีฟันและเขี้ยว จำนวนปล้องมีทั้งหมด 8 ปล้อง จำนวนขารวม 3 คู่ ไม่ค่อยเคลื่อนไหวใด ๆ มากนัก
ระยะเวลาดังกล่าวจะอยู่ประมาณ 1 ปี เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยก็จะค่อย ๆ ออกมาจากดินหรือต้นไม้ แต่บางชนิดอาจเป็นระยะดักแด้นาน 2-3 ปี ซึ่งพอเป็นด้วงกว่างเต็มตัวจะมีอายุราว 2-3 เดือน หากอาหารไม่อุดมสมบูรณ์มากพอ แต่ถ้าพื้นที่ใดมีต้นไม้เยอะอายุในวัยผู้ใหญ่ก็อาจอยู่ได้นานถึง 2 ปี เลยทีเดียว นี่จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่มักพบเจอพวกมันได้ตามป่าที่มีระบบนิเวศดีมาก ๆ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่พวกมันเริ่มเปลี่ยนจากดักแด้เป็นด้วงและโผล่ออกจากดิน
พฤติกรรมการหากินของด้วงกว่างและอาหารหลัก
อาหารหลักของด้วงกว่างมักกินยางไม้ เปลือกไม้ หรือเศษไม้ผุที่ล้มลงตามป่า แต่ถ้าไม่สามารถหาได้พวกมันก็มักจะกินผลไม้ พืชบางประเภท เช่น ไผ่เลี้ยง หน่อไผ่ซาง ไผ่รวก พุทราสุก อ้อย ลำไย ลิ้นจี่ ฝรั่ง กิ่งยูคาลิปตัส กิ่งสาลี่ ต้นแอปเปิล มักออกหากินในเวลากลางคืน หากพบเจอกับแสงไฟจากบ้านเรือนหรือไร่สวนก็มักบินเข้าหาแม้ท่าทางการบินของพวกมันอาจไม่ดูสง่างามมากนักจากลักษณะการเติบโตแต่โดยรวมก็ถือเป็นแมลงปีกแข็งอีกชนิดที่มีความสวยงามมาก ๆ
ความสำคัญของด้วงกว่างต่อระบบนิเวศ
อย่างที่กล่าวไปว่าวงจรชีวิตของด้วงกว่างส่วนมากต้องอยู่อาศัยกับป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงสังเกตได้ชัดเจนหากพื้นที่แห่งไหนพบเจอกับด้วงชนิดนี้มากเป็นพิเศษนั่นบ่งบอกถึงป่าที่มีระบบนิเวศดีเยี่ยม มากไปกว่านั้นปกติด้วงกว่างจะมีการวางไข่ตามต้นไม้และก่อไผ่ที่ล้มตายผุพังซึ่งมีจุลินทรีย์สูง ในช่วงที่ฟักออกจากไข่เข้าสู่ระยะตัวหนอนจะกินเยื่อไม้และขับถ่ายออกมาเป็นมูลกลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้สร้างความเจริญเติบโตกับระบบนิเวศต่อไป
ตัวอย่างด้วงกว่างสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่พบได้ในเมืองไทย
1.ด้วงกว่างชน (Xylotrupes gideon)
ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 1.5 – 5 ซม. สีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงเข้มสนิท ตัวผู้จะมี 2 เขา ขนาดจะขึ้นอยู่กับความใหญ่ของลำตัว หากตัวใหญ่มากขนาดของเขาก็ใหญ่ตามไปด้วยนั่นเอง
2.ด้วงกว่างหูกระต่าย (Eupatorus birmanicus)
เป็นด้วงกว่างที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกเล็กน้อย ช่วงโตเต็มที่ขนาดตัวประมาณ 4 – 5.5 ซม. สีน้ำตาลเข้มหรือออกสีดำ ลักษณะเด่นของตัวผู้จะมีนอเขา 1 เขา ยื่นโค้งงอออกจากหัวด้านล่าง และเขาบริเวณอกจะงอกยื่นออกมาด้านบน 1 คู่ เหมือนกับหูกระต่าย ส่วนตัวเมียจะไม่มีเขา
3.ด้วงกว่างห้าเขา (Eupatorus gracilicornis)
ถือเป็นด้วงขนาดกลางมีลำตัวใหญ่เต็มที่ประมาณ 5 – 7 ซม. บริเวณอกกับหัวจะมีสีดำ ขณะที่ลำตัวเป็นสีน้ำตาลอ่อน ตัวผู้มีนอเขางอกออกถึง 5 เขา ส่วนตัวเมียไม่มีเขา พบเจอได้บ่อยตามซากไม้หรือกอไม้ที่ผุพัง
4.ด้วงกว่างสามเขา (Chalcosoma atlas)
จัดเป็นด้วงกว่างที่อยู่ในกลุ่มด้วงขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 5 – 9 ซม. ตัวผู้มีเขาขนาดใหญ่ 3 เขา ส่วนตัวเมียจะไม่มีเขา บริเวณปีกด้านหลังผิวมีความขรุขระเหมือนขนกำมะหยี่คลุมอยู่นิดหน่อย ลำตัวบางครั้งจะพบสีเขียวเงา ถือว่าหายากพอสมควร
5.ด้วงกว่างสามเขาจันทร์(Chalcosoma caucasus)
อีกสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ โตเต็มวัยอยู่ประมาณ 6 – 10 ซม. ตัวผู้มีเขาขนาดใหญ่ 3 เขา ปีกหลังขรุขระเหมือนมีขนกำมะหยี่สีน้ำตาลปกคลุมอยู่พอสมควร ตัวสีดำอาจมีเหลือบสีเขียวเข้มบ้างในบางตัว ถือเป็นอีกสายพันธุ์ที่หายากมากทีเดียว
บทส่งท้าย
นี่คือข้อมูลอันน่าสนใจของ “ด้วงกว่าง” ซึ่งในเมืองไทยของเราก็มีอยู่หลายสายพันธุ์ที่พบเจอได้ เป็นแมลงปีกแข็งอีกชนิดที่มีความสำคัญและเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่า จึงเปรียบได้กับการกระตุ้นให้คนหันมาใส่ใจกับธรรมชาติมากขึ้นกว่าเดิม
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
- Image credit by: Canva