ท่ามกลางความโกลาหลที่เกิดขึ้นในแรคคูนซิตี้ Nemesis คงเป็นชื่อสุดยอดอาวุธชีวภาพที่หลายคนคงได้ยินกันบ่อยผ่านซีรีย์เกม Resident Evil 3 ซึ่งมีบทบาทในการไล่ฆ่า Jill Valentine ตำรวจหญิงหน่วยสตาร์คนหนึ่งที่ต้องหนีตายให้ทัน ก่อนที่ทั้งเมืองจะราพณาสูรไปกับตาด้วยระเบิดนิวเคลียร์ล้างบาง
แน่นอนว่าสิ่งเหนือจินตนาการในเกมเหล่านี้ ล้วนแล้วเคยเกิดขึ้นในโลกจริงมาก่อนจนแทบเหลือเชื่อ นับแต่ในอดีตที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ไปสู่ฝันร้ายที่กลายเป็นจริงอย่างการจับมนุษย์มาทดลองทำอาวุธชีวภาพในช่วงสงครามโลกที่ตราตรึงทรงจำของทรงจำของใครหลายคนไปตลอดกาล
ทุกอย่างดูจะเบาบางและจางหายตามวันและปีที่ล่วงเลยผ่าน กระทั่งโรคระบาดได้เข้าครอบงำโลกและชีวิตผู้คนทั้งโลกอีกครั้ง ร่วมกับสงครามยูเครนที่ปะทุขึ้นเป็นระยะ ท่ามกลางยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์ก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็วก็ยิ่งทำให้หลายฝ่ายต่างสงสัยความไม่ชอบมาพากลของบางประเทศมากขึ้นว่า มีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะแอบฝ่าฝืนอนุสัญญาห้ามด้วยการทำอาวุธชีวภาพอีกครั้ง
ในบทความนี้พวกเราจะพาเพื่อนนักอ่านทุกคนเข้าใจถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘อาวุธชีวภาพ’ พร้อมเล่าย้อนความในอดีตที่เกิดขึ้นเพื่อไขข้อข้องใจว่า ทำไมทั่วทั้งโลกต่างโจษจันให้มันเป็นสิ่งต้องห้าม
อาวุธชีวภาพ คืออะไร
อาวุธชีวภาพ หรือ อาวุธเชื้อโรค ที่ฝรั่งเรียกกันว่า Biological weapon คืออาวุธสงครามรูปแบบหนึ่งที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยใช้เชื้อโรคและเชื้อจุลินทรีย์หลากหลายชนิดเป็นแกนหลักเพื่อใช้ฆ่าหรือทำลายฝ่ายตรงข้ามไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์และพืชใด ๆ ก็ตามแต่ ทั้งนี้งานวิจัยจากทั่วโลกในปัจจุบันได้ระบุรายชื่อของเชื้อจุลินทรีย์ที่คาดว่าใช้
เป็นอาวุธชีวภาพอยู่ 4 ประเภท (ธิดารัตน์ นุชถนอม, 2560) ได้แก่
-แอนแทรกซ์ (Anthrax)
เป็นเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis ที่สามารถติดต่อได้ ซึ่งทนทานต่อสิ่งแวดล้อมและกระจายอยู่ในดินได้นาน โดยมากจะติดต่อมาจากสัตว์กินพืชมาสู่คน ทั้งทางบาดแผล ทางการหายใจ และทางการกินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือด การเกิดอาการท้องร่วงหรือเลือดออกทางปาก จมูก ทวารจากการสูดเอาสปอร์เข้าไป ซึ่งเมื่อเชื้อเข้าไปในร่างกาย จะส่งผลให้ผู้นั้นเสียชีวิตในเวลาไม่นาน
-ไข้ทรพิษ (Smallpox)
หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ‘โรคฝีดาษ’ ซึ่งทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งหรือตามอุณหภูมิห้องนั้น ๆ ได้นาน สามารถติดต่อได้ผ่านการหายใจ และหากเข้าสู่กระแสเลือดจะเสียชีวิตได้โดยง่าย ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่า ไข้ทรพิษได้หมดไปจากโลกตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1979 จึงไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคชนิดนี้นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1980 เป็นต้นมา
-โบทูลิซึม (Botulism)
หรือชื่อเต็มคือ Clostridium Botulism เป็นเชื้อโรคที่มีผลต่อระบบประสาท ซึ่งทำให้ผู้ที่ติดเชื้อเป็นอัมพาตตามบริเวณกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ไปจนถึงกล้ามเนื้อหัวใจได้เลย ทั้งนี้สามารถติดต่อได้ผ่านทางบาดแผลและการกินอาหารที่อัดบรรจุในกระป๋อง
-เชื้อไวรัสอีโบล่า (Ebola)
เป็นเชื้อโรคซึ่งพบมากในแถบแอฟริกา สามารถติดเชื้อได้ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือดของผู้ป่วย เป็นต้น โดยมากหลังจากติดเชื้อจะมีอาการ Ebola Hemorrhagic Fever (EHF) ซึ่งมีไข้ขึ้นสูง อ่อนเพลียก่อนตกเลือดจากช่องทวารต่าง ๆ ในร่างกายและเสียชีวิตในทันที แม้ว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาจะยังไม่มียารักษาโรคดังกล่าว ทว่าล่าสุดโลกของเราสามารถผลิตแอนติบอดี้ยับยั้งไวรัสอีโบล่าได้สำเร็จ ซึ่งหมายความว่าอีโบล่าจะกลายเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ในอนาคต
จากโบราณกาลสู่ยุคร่วมสมัย ฝันร้ายที่เคยเป็นจริง
มนุษย์เรารู้จักใช้อาวุธชีวภาพมาเนิ่นนานแล้ว จากบันทึกทางโบราณคดีที่เล่าขานถึงเหตุการณ์การเข้ายึดเมืองคาฟฟา (Caffa) ในช่วงค.ศ. 1346 – 1890 พบว่ามีการใช้เครื่องดีดกระสุนโบราณติดซากศพที่ตายจากกาฬโรค (Black death) ข้ามกำแพงเมืองเข้ามาจนเกิดการระบาดไปทั่วเมือง
และทุกอย่างดูเริ่มทับทวีความรุนแรงเมื่อเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อญี่ปุ่นได้ฝ่าฝืนข้อห้ามการใช้อาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพในใบอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Protocol) เมื่อปี ค.ศ. 1925 ด้วยการจับคนมาทดลองทำอาวุธชีวภาพกับสารพัดเชื้อโรค เช่น เชื้อแอนแทรกซ์ เชื้ออหิวาตตกโรค ภายใต้ชื่อ ‘หน่วยต่อต้านโรคระบาด ผลิตน้ำบริสุทธิ์ และจ่ายน้ำแห่งกองทัพกวางตุ้ง’ เป็นฉาบหน้า ซึ่งในระยะต่อมาสืบทราบว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึงหลายพันราย จากกลุ่มเชลยศึกที่ถูกจับมาทดลองร่วมหมื่น
ขณะเดียวกันทางแถบรัสเซียได้จับคนจำนวนกว่า 60,000 ชีวิตมาเข้าร่วมการทดลองผลิตอาวุธชีวภาพ ร่วมกับการผลิตเชื้อแอนแทรกซ์ เชื้อไขทรพิษ และเชื้อกาฬโรคร่วมกันหลายร้อยตันกักเก็บไว้ในกองทัพ
กระทั่งเข้าสู่ยุคร่วมสมัย ก็ไม่วายเกิดเหตุการณ์ที่ว่านี้ เมื่อเหตุก่อการร้าย 911 ปะทุขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2001 ซึ่งพึ่งจบสงครามโลกไปได้เพียง 56 ปีเพียงเท่านั้น แน่นอนว่าอาวุธชีวภาพก็เป็นหนึ่งในตัวที่ทำให้ชีวิตของคนทั้งห้าต้องจบลง
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เองจึงทำให้ชาวโลกหันมาใส่ใจกับสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพกันมากขึ้น เพื่อปกป้องชีวิตตัวเองและโลกเอาไว้จากหายนะที่อาจเกิดขึ้น
อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ
การจัดทำอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ (BWC Convention) เมื่อ 26 มีนาคม ค.ศ. 1975 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติฝันร้ายอันยาวนานนับแต่อดีตกาล ด้วยการห้ามไม่ให้ผู้ใดพัฒนา ผลิต ได้รับมา ถ่ายโอน สะสมและใช้งานอาวุธเชื้อโรค ซึ่งแน่นอนว่ามันนำความปลอดภัยและความมั่นคงทางชีวภาพให้กับผู้คนได้ในระดับหนึ่ง ผ่านมาตรการระดับชาติในการร่วมมือและช่วยเหลือระหว่างประเทศ ด้วยลงนามรัฐภาคีเพื่อสนับสนุนการใช้วิจัยและพัฒนาจุลชีพเพื่อการรักษาโรคในกิจกรรมทางการแพทย์
แม้ในช่วงแรกจะมีข้อจำกัดเรื่องมาตรการบังคับใช้ ตรวจสอบข้อเท็จจริง การให้บทลงโทษ และการเยียวยาผู้เสียหายมากมายก็ตาม
จุดสรุปของ Nemesis: การเดินทางที่ไร้จุดจบ
แม้ว่าอาวุธชีวภาพแสดงผลอันน่าสะพรึงกลัวต่อผู้คนที่ได้เห็นและสัมผัสมันมากเพียงใด ทว่าสิ่งเหล่านั้นกลับช่างเบาบาง เมื่อเทียบกับความแค้นของมนุษย์ฝังรากลึกถึงจิต ยามมุ่งหวังใช้ประโยชน์จากมันเพื่อทำลายล้างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ดั่งชื่อ Nemesis ที่ไม่ว่าจะอยู่ในรูปโฉมเทพีแห่งการแก้แค้นผู้งามสง่าหรือสัตว์ประหลาดสุดแสนอัปลักษณ์ ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่น่ากลัวและอาศัยอยู่ในตัวเราได้แทบทั้งสิ้น เพียงแต่เราทุกคนจะหยุดยั้งให้การสร้างและใช้อาวุธไม่บังเกิดได้อย่างไร
ก็ล้วนแล้วอยู่ที่ความคิดของเราเองเช่นกัน เพื่อให้มนุษย์และโลกทั้งใบอยู่กันอย่างสงบสุข ภายใต้แผ่นฟ้าแห่งสันติภาพเดียวกัน.. ต่อไป
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
ธิดารัตน์ นุชถนอม. (2560). อาวุธชีวภาพ. สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2565, จาก https://phad.ph.mahidol.ac.th/journal_law/3-2/13-Thidarat%20Nuttanorm.pdf
United Nation. (N/A). What are Biological Weapons? 8 December 2022, derived from https://www.un.org/disarmament/biological-weapons/about/what-are-biological-weapons/
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง > ‘เล่า’ เก่าในขวดใหม่! มิติใหม่ของ Darwin Effect สู่การกอบกู้สิ่งแวดล้อม