“แครอท” พืชกินหัวสีส้มสดที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ด้วยเนื้อสัมผัสที่โดดเด่น และรสชาติที่หวานหอมเป็นเอกลักษณ์ จึงนิยมนำแครอทมาประกอบอาหารกันอย่างหลากหลาย แครอทเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากมาย ทั้งอุดมไปด้วยสารสำคัญอย่างเบต้า-แคโรทีน แอนโทไซยานิน วิตามินซี วิตามินเค และยังเป็นแหล่งของเส้นใยอาหาร รวมถึงคุณค่าทางสารอาหารอื่น ๆ อย่างครบครัน
แครอท คืออะไร
แครอท (Carrot) คือ พืชกินหัวชนิดหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในวงศ์ผักชี (Apiaceae หรือ Umbelliferae) ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับผักชี ผักชีล้อม เซเลอรี ใบบัวบก พาร์สลีย์ ฯลฯ หัวแครอทมีลักษณะทรงกลมยาวเรียว มีด้วยกันหลายขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงหัวขนาดใหญ่ และมีสีสันหลากสี เช่น แครอทสีส้ม สีเหลือง สีม่วง สีแดง และแครอทสีขาว แครอทจัดเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์มากมาย มีการค้นพบหลักฐานว่าแครอทถูกใช้เพื่อการรักษาโรคโดยชาวเปอร์เซียนโบราณในช่วง 3,300 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนที่แครอทจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และถูกปลูกเพื่อการบริโภคในช่วง 1,100 ปีก่อน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ชื่อท้องถิ่น ผักกาดหัวเหลือง หัวผักกาดแดง ผักชีหัว ผักชีหัวแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Daucus carota Linn.
แครอทเป็นพืชล้มลุก จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับผักชี (Apiaceae หรือ Umbelliferae) โดยหัวแครอทแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
- ส่วนราก ซึ่งเป็นกลุ่มรากแก้วที่ฝังอยู่ใต้ดิน มีลักษณะเรียวยาว ใช้เป็นที่สะสมอาหารเรียกว่า หัวแครอท มีหลายสี ทั้งสีส้ม ม่วง ขาว เหลือง และสีแดง มีขนาดความยาวได้ตั้งแต่ 5-50 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร
- ส่วนของใบที่โผล่ขึ้นมาเหนือดิน ใบเป็นใบประกอบลักษณะคล้ายขนนก มีลักษณะเป็นฝอยคล้ายกับใบของผักชีลาว
- ดอก มีลักษณะเป็นช่อ รูปร่างคล้ายร่ม ชั้นนอกมีสีชมพู และตรงกลางสีม่วงแดง
ถิ่นกำเนิดของแครอท
ในช่วง 3,300 ปีก่อนคริสตกาลมีหลักฐานการใช้แครอทเพื่อการรักษาโรคในทวีปเอเชีย และคาดการณ์กันว่าเริ่มมีการปลูกแครอทสำหรับใช้เพื่อการบริโภคในช่วงประมาณ 1,100 ปีก่อน ในแถบเอเชียกลางจนถึงทางตะวันออก ได้แก่ประเทศอัฟกานิสถาน อิหร่าน และประเทศอุซเบกิสถาน ต่อมาจึงได้มีการนำแครอทเข้ามาปลูกในทวีปยุโรปและประเทศจีน ทำให้แครอทกลายเป็นผักกินหัวที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก
แครอทจัดเป็นผักหรือผลไม้?
แครอทจัดอยู่ในกลุ่มของ “ผัก” ที่เป็นพืชใต้ดินหรือพืชกินหัว (Root Vegetables) ส่วนที่ใช้สำหรับการบริโภคคือ ราก ที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพืช ไม่ใช่การกินผลจึงไม่ได้จัดอยู่กลุ่มของผลไม้
แครอทมีทั้งหมดกี่ชนิด
ในปัจจุบันมีแครอทมากกว่า 40 สายพันธุ์ทั่วโลก แต่สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยม และนำมาใช้เพื่อการบริโภคมากที่สุดมีอยู่ 5 สายพันธุ์ ได้แก่
- พันธุ์เบบี้แครอท (Baby carrot) หรือ ฟิงเกอร์ (Finger) เป็นแครอทที่มีมขนาดเล็กมาก หัวมีขนาดความยาวประมาณ 5-5 เซนติเมตร เนื้อกรอบร่วน รสชาติหวาน นิยมทานทั้งแบบสด ๆ และนำไปปรุงเป็นเมนูอาหาร สายพันธุ์ที่นิยมรับประทานได้แก่ พันธุ์มาสเตอร์ (Master), พันธุ์อิมเพอเรเตอร์ (Imperater), พันธุ์เกรซ (Grace) และพันธุ์มินิเอกซ์เพรส (Mini Express)
- พันธุ์แนนเทส (Nantes) เป็นสายพันธุ์ที่มีความโดดเด่นเรื่องรูปทรงเพราะตัวหัวแครอทจะมีลักษณะกลมเรียวเท่า ๆ กันเกือบทั้งหัว ส่วนปลายของรากทู่ สีส้มสด มีความยาวประมาณ 13-18 เซนติเมตร รสชาติหวานกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ นิยมนำมารับประทานสด ๆ คั้นน้ำ หรือนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู
- พันธุ์แชนทีเน่ (Chantenay) เป็นแครอทที่มีขนาดค่อนข้างสั้น รูปทรงกรวย ส่วนหัวบริเวณที่ติดกับใบมีขนาดใหญ่และปลายเรียวแหลม ช่วงหัวยาวประมาณ 24-26 เซนติเมตร เนื้อด้านนอกมีสีส้มสด ส่วนแกนด้านในสีส้มออกแดง นิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตแครอทแช่แข็ง และแครอทกระป๋อง
- พันธุ์แดนเวอร์ (Danvers) เป็นสายพันธุ์แครอทที่ได้รับความนิยม เพราะมีรสชาติหวานอร่อยและสามารถเก็บรักษาได้นาน หัวมีลักษณะค่อนข้างสั้น ขนาด 15-18 เซนติเมตร ช่วงปลายมีความเรียวแหลมเล็กน้อย
- พันธุ์อิมเพอเรเตอร์ (Imperater) เป็นสายพันธุ์ที่ส่วนหัวของแครอทสามารถยาวได้ถึง 25-30 เซนติเมตร มีปลายเรียว ผิวเปลือกค่อนข้างเรียบ เป็นสายพันธุ์ที่มีรสชาติค่อนข้างหวาน นิยมทานแบบสด
สายพันธุ์ของแครอทที่นิยมปลูกในประเทศไทย ได้แก่ พันธุ์หงส์แดง (New Kuruda) จัดอยู่ในสายพันธุ์แชนทาเน่, พันธุ์มินิเอ็กซ์เพรส (Mini Express) จัดอยู่ในสายพันธุ์เบบี้แครอท, พันธุ์ทัมบีลีนา (Thumbelina) และ พันธุ์ทัวริโน เอฟวัน (Tourino F1)
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม
- ให้พลังงาน 41 กิโลแคลอรี
- น้ำ 88.3 กรัม
- โปรตีน 0.93 กรัม
- ไขมัน 0.24 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 9.58 กรัม
- เส้นใยอาหาร (Fiber) 2.8 กรัม
- น้ำตาล 4.74 กรัม
- แคลเซียม 33 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.3 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 320 มิลลิกรัม
- โซเดียม 69 มิลลิกรัม
- สังกะสี 0.24 มิลลิกรัม
- ทองแดง 0.045 มิลลิกรัม
- แมงกานีส 0.143 มิลลิกรัม
- ซีลีเนียม 0.1 ไมโครกรัม
- ฟลูออไรด์ 3.2 ไมโครกรัม
- วิตามินซี 5.9 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 6 0.138 มิลลิกรัม
- วิตามินเอ 835 ไมโครกรัม
- วิตามินอี 0.66 มิลลิกรัม
- วิตามินเค 13.2 ไมโครกรัม
- เบต้า-แคโรทีน 8,280 หน่วยสากล
- อัลฟา-แครโรทีน 3,480 หน่วยสากล
- ลูทีนและซีแซนทีน 256 ไมโครกรัม
- ไทอามิน 0.066 มิลลิกรัม
- ไรโบฟลาวิน 0.058 มิลลิกรัม
- ไนอะซิน 0.983 มิลลิกรัม
แหล่งข้อมูล : USDA
ประโยชน์ของแครอท
แครอทมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างครบครัน โดดเด่นด้วยสารต้านอนุมูลอิสระคุณภาพสูง (Antioxidants) อย่างสารเบต้า-แคโรทีน (Beta-Carotene) สารฟาลคารินอล (Falcarinol) สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) รวมถึงวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นอีกมากมาย ซึ่งแครอทมีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้
- แครอทช่วยบำรุงสายตา และถนอมสายตา เพราะในแครอทอุดมไปด้วยสารเบต้า-แคโรทีน ที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนสารชนิดนี้ให้กลายเป็นวิตามินเอ ทั้งยังมีลูทีน (Lutein) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการบำรุงสายตาและจอประสาทตา ช่วยให้มองเห็นได้ดีในที่มืด ลดโอกาสการเกิดโรคตาบอดตอนกลางคืน โรคตาฟางและโรคต้อกระจก
- แครอทช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคมะเร็ง เพราะในแครอทมีสารต้านอนุมูลอิสระ คือ แคโรทีนอยด์ แอนโทไซยานิน และสารฟาลคารินอล ที่มีส่วนช่วยลดอาการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย ซึ่งอาการอักเสบเหล่านี้อาจเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคมะเร็งได้
- แครอทช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ถึงแม้ในแครอทจะมีปริมาณน้ำตาลมากกว่าผักชนิดอื่น ๆ แต่แครอทเป็นผักที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำ ทั้งยังอุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร (Fiber) ที่มีส่วนช่วยควบคุมระดับอินซูลิน (Insulin) ในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ นอกไปจากนี้ยังมีรายงานว่าวิตามินเอและสารเบต้า-แคโรทีนที่พบได้ในแครอทมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานได้เช่นเดียวกัน
- แครอทมีส่วนช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ในแครอทมีสารต้านอนุมูลอิสระคุณภาพสูงหลายชนิด เช่น สารเบต้า-แคโรทีน, สารฟาลคารินอล, แอนโทไซยานิน ฯลฯ ที่สามารถช่วยป้องกันการเกิดไขมันอุดต้นในหลอดเลือดได้ นอกจากนี้ในแครอทยังมีโพแทสเซียม ที่ช่วยควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติ ซึ่งดีต่อระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด
- แครอทช่วยลดการสะสมของไขมันในตับ และควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เพราะสารเบต้า-แคโรทีนที่พบในแครอท จัดอยู่ในกลุ่มแคโรทีนอยด์และเป็นสารที่ละลายในไขมัน การรับประทานแครอทจึงเป็นการกระตุ้นให้ตับปล่อยน้ำดีออกมาเพื่อย่อยอาหาร ช่วยลดการสะสมของไขมันที่ตับ และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
- แครอทช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน วิตามินซีในแครอทมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ด้วยการเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาว และช่วยในกระบวนการทำลายเชื้อโรคภายในร่างกาย
- แครอทช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด วิตามินเค และสารเบต้า-แคโรทีนในแครอท มีส่วนช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยปรับปรุงและกระตุ้นระบบย่อยอาหารให้ดีขึ้น
- แครอทช่วยกระตุ้นผิวพรรณให้สวยงามเปล่งปลั่ง สารต้านอนุมูลอิสระในแครอทจะช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ผิว เสริมให้ผิวแข็งแรง ปกป้องผิวจากการถูกทำร้ายจากแสงแดด และช่วยสร้างคอลลาเจนใหม่ ๆ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้ผิวดูเปล่งปลั่ง เต่งตึงและอ่อนเยาว์
- แครอทช่วยลดอาการท้องผูก แครอทเป็นผักที่อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร (Fiber) จึงช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร และการขับถ่าย ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ถ่ายยาก
ข้อควรระวังในการรับประทานแครอท
- การรับประทานแครอทมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะวิตามินเอเป็นพิษ โดยจะทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ผมร่วง มีเลือดออกทางจมูก และอาจทำให้ร่างกายยับยั้งการทำงานของวิตามินเอ ส่งผลกระทบต่อระบบการมองเห็น ความแข็งแรงของกระดูกและผิวหนังลดลง
- แครอทอาจทำให้ผิวเปลี่ยนสีได้ เพราะในแครอทมีรงควัตถุ (Pigment) คือ สารเบต้า-แคโรทีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดสีแดงเข้มและสีส้มเข้ม เมื่อร่างกายได้รับประมาณเบต้าแคโรทีนมากกว่า 20 มิลลิกรัม (แครอทขนาดกลาง 1 หัว มีเบต้าแคโรทีนประมาณ 4 มิลลิกรัม) ติดต่อกันนานเกิน 2-3 สัปดาห์ จะทำให้เกิดภาวะแคโรทีนเมีย (Carotenemia) ทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีส้ม หรือสีเหลืองมากกว่าปกติ
- แครอทการทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ เพราะแครอทเป็นพืชกินหัวที่มีเนื้อแข็งและมีเส้นใยอาหารสูง การกินแครอทมากเกินไปอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องอืดและแน่นท้องได้
- แครอทอาจมีสารตะกั่วปนเปื้อน หากแครอทเหล่านั้นปลูกอยู่ใกล้กับโรงงาน หรือนิคมอุตสาหกรรม เมื่อมีปริมาณตะกั่วตกค้างในร่างกายเป็นจำนวนมาก จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของเซลล์ไขกระดูก ระบบประสาท และไต ทำให้เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ อาเจียน น้ำหนักลด และโลหิตจาง ดังนั้นจึงควรเลือกซื้อแครอทจากแหล่งเพาะปลูกที่น่าเชื่อถือ และควรล้างทำความสะอาดแครอททุกครั้งก่อนนำมาประกอบอาหาร
- ควรระมัดระวังการบริโภคแครอทในเด็กเล็ก เพราะแครอทเป็นพืชกินหัวเนื้อแข็งที่เคี้ยวได้ยากสำหรับเด็กเล็ก เสี่ยงทำให้เกิดการสำลักหรืออุดตันในทางเดินหายใจได้ เพื่อความปลอดภัยของเด็กเล็กควรต้มหรือนึ่งแครอทให้มีเนื้อนิ่มและเคี้ยวง่าย หรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำ
ผู้ใดที่ไม่ควรทานแครอท
- ผู้ที่มีประวัติแพ้แครอท หรือแพ้ผักในวงศ์ผักชี เช่น ผักชีล้อม เซเลอรี หรือพาร์สลีย์ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแครอทหรืออาหารที่มีส่วนผสมของแครอท เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้แครอทชนิดเฉียบพลัน มีอาการคันหรือระคายเคืองที่เยื่อบุตา จมูก และปาก ระบบหายใจติดขัด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงอาจมีอาการเข้าขั้นวิกฤติและทำให้เสียชีวิตได้
- ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรกำหนดปริมาณการรับประทานแครอทให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำแครอทที่อาจมีปริมาณน้ำตาลแฝงสูง
การทานให้ได้ประโยชน์สูงสุด
เนื่องจากแครอทเป็นผักกินหัวที่มีผนังเซลล์ค่อนข้างแข็ง ร่างกายย่อยและดูดซึมได้ยาก จึงควรกินแครอทที่ผ่านการปรุงสุก เช่น แครอทอบ แครอทนึ่ง แครอทย่าง ฯลฯ เพื่อช่วยให้ร่างกายย่อยและดูดซึมสารอาหารสำคัญได้อย่างครบถ้วน เช่น สารเบต้า-แคโรทีน วิตามินเอ วิตามินเค ฯลฯ
นอกไปจากนี้ควรรับประทานแครอทควบคู่กับอาหารกลุ่มไขมัน (Fat) เช่น น้ำมันมะกอก ชีส เนื้อปลาแซลมอน อะโวคาโด ถั่วเปลือกแข็ง ฯลฯ เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารเบต้า-แคโรทีน รวมไปถึงวิตามินเอที่ละลายในไขมันได้ดียิ่งขึ้น
การล้างก่อนรับประทาน
ก่อนการรับประทานแครอททั้งแบบสดและการนำไปประกอบอาหาร ควรล้างทำความสะอาดแครอทเพื่อช่วยลดสารปนเปื้อนให้น้อยลง โดยสามารถใช้วิธีการล้างเหล่านี้
- ตัดส่วนหัวและท้ายของแครอทออก จากนั้นล้างทำความสะอาดด้วยการเปิดน้ำไหลผ่าน และใช้มือถูเบา ๆ นาน 1-2 นาที จะช่วยลดปริมาณสารเคมีที่ตกค้างได้ 54-63%
- ล้างแครอทด้วยการใช้ผงฟู ด้วยการละลายผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ ในน้ำปริมาตร 20 ลิตร แช่แครอททิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณสารตกค้างได้มากถึง 80-95%
- ล้างแครอทด้วยการใช้ด่างทับทิม ใช้ด่างทับทิมประมาณ 20-30 เกล็ด ละลายในน้ำปริมาตร 4 ลิตร แช่แครอททิ้งไว้ 10 นาที แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณสารตกค้างได้มากถึง 35-45%
- ล้างแครอทด้วยการใช้น้ำส้มสายชู ใช้น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำปริมาตร 4 ลิตร แช่แครอททิ้งไว้ 10 นาที แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณสารตกค้างได้มากถึง 29-38%
- ล้างแครอทด้วยการใช้เกลือเม็ดหรือเกลือป่น ใช้เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำปริมาตร 4 ลิตร แช่แครอททิ้งไว้ 10 นาที แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณสารตกค้างได้มากถึง 27-38%
แหล่งข้อมูล : มหาวิทยาลัยมหิดล
แครอทนำมาประกอบอาหารใดได้บ้าง
แครอทเป็นผักกินหัวที่มีเนื้อกรอบร่วน รสชาติหวานอร่อย นิยมรับประทานทั้งแบบสด หรือนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น
- อาหารคาว เช่น ซุปแครอท แครอทอบ แครอทดอง แครอทต้ม แครอทนึ่ง น้ำสลัดแครอท สลัดแครอท ข้าวเกรียบแครอท แกงจืดแครอท ฯลฯ
- อาหารหวาน เช่น แครอทเค้ก มัฟฟินแครอท ขนมแครอท คุกกี้แครอท ฯลฯ
- เครื่องดื่ม เช่น น้ำแครอท สมูทตี้แครอท น้ำแครอทสกัดเย็น ฯลฯ
นอกจากนี้แครอทยังเป็นหนึ่งในอาหารทางเลือกยอดนิยมของกลุ่มผู้ที่เน้นทานผักอย่างกลุ่ม คีโต หรือ วีแกน
การเลือกซื้อแครอท
เทคนิคการเลือกซื้อแครอทเพื่อให้ได้แครอทที่มีเนื้อกรอบร่วน รสชาติหวาน รับประทานอร่อย ควรเลือกซื้อแครอทที่มีลักษณะเหล่านี้
- แครอทเป็นแท่งเรียวสวย มีสีสดสม่ำเสมอทั่วกันทั้งหัว ผิวใสเป็นมันเงา ไม่มีจุดขุ่นขาว
- แครอทจะต้องมีผิวที่เรียบและตึง ไม่มีรอยแตกและรอยช้ำ
- บริเวณขั้วแครอทจะต้องเป็นสีเขียวจึงจะเป็นแครอทที่สดใหม่ หากบริเวณขั้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล นั่นอาจแปลได้ว่าแครอทถูกเก็บเกี่ยวมาหลายวันแล้ว
- แครอทที่มีรสชาติหวานจะมีแกนกลางเล็ก (สังเกตขนาดของแกนได้ที่บริเวณขั้วแครอท) ส่วนแครอทที่มีแกนกลางใหญ่ จะหวานน้อยกว่า และมีเส้นใยอาหารเยอะ
การเก็บรักษาแครอท
สามารถเก็บรักษาแครอทไว้ในตู้เย็น เพื่อช่วยยืดอายุแครอทไว้ได้นานหลายเดือน ด้วยการใช้พลาสติกใสพันให้ทั่วหัวแครอท หรือนำใส่ในถุงซิปล็อกสำหรับใส่อาหาร จากนั้นนำไปเก็บไว้ในช่องเก็บผักหรือช่องแช่เย็นธรรมดา
อ่านบทความวิทยาศาสตร์สุขภาพ อื่นๆ