“หิ่งห้อย” เมื่อพูดถึงชื่อนี้คิดว่าหลาย ๆ คนก็คงจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งจุดเด่นที่ทำให้ถูกขนานนามเป็นสัตว์หรือแมลงสุดพิเศษมาจากการเรืองแสงในตัวเองได้ จากความแปลกตรงนี้เองทำให้สถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมากใช้เป็นจุดเด่นเพื่อดึงดูดให้ผู้คนแวะเวียนเข้ามาสัมผัสด้วยตาตนเองแบบไม่ขาดสาย จึงขอพาไปทำความรู้จักกับสัตว์โลกอีกชนิดที่แตกต่างไม่เหมือนใคร และไม่สามารถทำให้สัตว์ชนิดอื่นเหมือนพวกมันได้อีกด้วย
ทำความรู้จักกับ “หิ่งห้อย”
หิ่งห้อย หรือ Firefly (บ้างก็เรียก Lightning Bug) สำหรับคนไทยบางพื้นที่อาจเรียกแมลงชนิดนี้ว่า “ทิ้งถ่วง” จัดเป็นสัตว์แมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง มีสายพันธุ์ทั่วทั้งโลกอยู่ราว 2,000 ชนิด (ในเมืองไทยมีมากกว่า 100 ชนิด) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ถูกเรียกว่า “Lampyridae” เหตุผลที่ใช้ชื่อแบบเดียวกับวงศ์เนื่องจากแต่ละสายพันธุ์เองมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันมากจึงไม่สามารถจำแนกได้ชัดเจนทั้งหมด อยู่ในอันดับ Coleoptera หรือกลุ่มเดียวกับด้วง มีจุดเด่นสำคัญคือการกะพริบแสงในตัวเองซึ่งมักใช้สำหรับสื่อสารระหว่างกันให้พวกพ้องของตนเองรอดพ้นจากสัตว์นักล่า และในช่วงของการผสมพันธุ์
ปกติแล้วสามารถพบเจอกับหิ่งห้อยได้ตามพื้นที่เขตหนาว อบอุ่นและเขตร้อนเกือบทุกพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นบริเวณสวนสาธารณะ ป่าโกงกาง ป่าริมแม่น้ำ ซึ่งบริเวณดังกล่าวจัดเป็นจุดที่มีอาหารสำหรับพวกมันอยู่จำนวนมาก แต่จะไม่พบในเขตพื้นที่อากาศหนาวเย็นจัดและพื้นที่กึ่งขั้วโลก เช่น บริเวณขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ หรือทวีปแอนตาร์กติก
ลักษณะทางกายภาพของหิ่งห้อย
คนที่ไม่เคยเห็นหิ่งห้อยตัวเป็น ๆ มาก่อนอาจคิดว่าพวกมันมีแค่จุดแสงที่ส่องสว่างออกมา แต่ความเป็นจริงลักษณะทางกายภาพของแมลงปีกแข็งชนิดนี้เมื่อตัวผู้โตเต็มวัยจะมีปีก ขณะที่ตัวเมียเป็นได้ทั้งแบบมีปีกและไม่มีปีกขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ หรือบางชนิดอาจมีปีกแต่ขนาดสั้นและเล็กมาก ซึ่งตัวที่ไม่มีปีกลักษณะภายนอกจะใกล้เคียงกับหนอน บางพื้นที่จึงอาจมีคำเรียกในเชิง หนอนเรืองแสง ดักแด้เรืองแสง ก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้หากอธิบายแบบเข้าใจมากขึ้นก็อาจบอกลักษณะของหิ่งห้อยได้คือ
- ขนาดลำตัวรวมหัวเมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และเพศ) รูปร่างเป็นทรงกระบอก
- ส่วนหัวจะมีสีดำ แต่บางชนิดก็อาจมีแถบสีอื่นปะปนเข้ามาด้วย อาทิ สีแดง สีเหลืองปนน้ำตาล
- ดวงตาขนาดโต 1 คู่ สีดำ และหนวดสีดำ 2 ข้าง
- หน้าอก มักมีลักษณะกว้างออกไปทางด้านข้างคล้ายกับรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า บางสายพันธุ์บริเวณอกอาจเกิดการขยายจนคลุมส่วนหัวมิดชิดจนมองไม่เห็นหากสังเกตจากด้านบนตัวแมลง
- ท้อง มีลักษณะเป็นปล้องท้อง ซึ่งตัวผู้มีรวม 6 ปล้อง ตรงช่วงปล้องที่ 5 และ 6 จะมีไว้สำหรับการส่องแสง ขณะที่ตัวเมียมี 7 ปล้อง โดยปล้องที่ 5-7 จะสามารถทำแสงให้เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้บริเวณปล้องที่ทำแสงของทั้ง 2 เพศจะมีสีขาวหรือครีม
- ปีก เมื่องอกออกมาเต็มที่จะปิดคลุมท้องมิดชิดจึงไม่สามารถเห็นได้ทั่วไป แบ่งเป็น 2 ปีก ปีกบนไม่แข็งมากนัก ทึบแสง ปีกล่างบางใส สีออกชา สีดำ หรืออื่น ๆ ตามสายพันธุ์ อย่างไรก็ตามตัวเมียของบางชนิดอาจมีปีกสั้น ๆ หรือไม่มีเลยก็ได้
- ขา มีทั้งหมด 6 ขา แบ่งออกเป็น 3 ข้อ ตรงปลายทุกขาจะมีขอสำหรับยึดเหนี่ยวต้นไม้ ใบไม้
วงจรชีวิตของหิ่งห้อย
เมื่อหิ่งห้อยจะทำการผสมพันธุ์บริเวณปล้องที่ส่องแสงจะมีการกะพริบใส่อีกฝ่ายเพื่อส่งสัญญาณบอก หลังทำการผสมพันธุ์เรียบร้อยตัวเมียจะไปวางไข่บริเวณพื้นดินที่มีความชื้นแฉะ เช่น ร่องสวน ริมตลิ่งแม่น้ำ ริมป่าชายเลน การวางไข่แต่ละครั้งมีได้ตั้งแต่ 50-130 ฟอง หลังวางไข่ได้ราว 10-12 วัน ตัวหนอนก็จะค่อย ๆ โผล่ออก บางตัวก็อาจหย่อนตัวเองลงไปในน้ำ บ้างก็คลานขึ้นบนบก แต่ไม่ว่าจะแบบใดก็ตามเป้าหมายของพวกมันต้องการหาอาหารเพื่ออยู่รอด
การกินอาหารของพวกตัวอ่อนในระยะที่เป็นตัวหนอนมักเน้นไปพวกหอยทาก และหอยชนิดต่าง ๆ โดยจะฝังตัวเองไว้ราว 3-15 เดือน ระหว่างนั้นก็จะมีการลอกคราบรวมทั้งหมด 4-5 ครั้ง ก่อนเปลี่ยนเป็นดักแด้และออกจากหอยไปซ่อนตัวอยู่ตามกองใบไม้หรือเศษไม้ผุประมาณ 8 วัน จนในที่สุดก็บินออกสู่อิสรภาพ กับการเป็นหิ่งห้อยเพื่อเรืองแสงอย่างที่เห็นกันนั่นเอง
อย่างไรก็ตามปริมาณของสัตว์ปีกแข็งชนิดนี้ในระบบนิเวศหากเทียบกับสมัยก่อนถือว่าน้อยลงมาก เนื่องจากคุณภาพของน้ำและดินที่ไม่สะอาด เมื่อพวกมันเกิดแล้วเจอกับสารพิษในดินหรือแหล่งน้ำก็มักตายภายในเวลาอันรวดเร็ว
พฤติกรรมการหากินของหิ่งห้อยและอาหารหลัก
ความน่าแปลกอย่างหนึ่งคือหิ่งห้อยในช่วงที่ยังเป็นหนอนพวกมันมักพึ่งพาอาหารโดยการเกาะกินหอยหลายชนิดแล้วแต่ว่าจะพบเจอ หลังจากเกาะเรียบร้อยก็ทำการฉีดสารบางชนิดเพื่อให้หอยเกิดความมึนงงจนหอยไม่สามารถขจัดพวกมันออกไปได้
ทว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยโตเต็มตัวและสามารถบินได้อาหารที่กินจะเป็นน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ น้ำค้าง หรือบางตัวก็อาจไม่กินอะไรอีกเลย โดยหิ่งห้อยมักจะเกาะตามต้นไม้ใหญ่เพื่อผสมพันธุ์ ดังคำกล่าวที่ได้ยินกันติดหูว่า หิ่งห้อยมักคู่กับต้นลำพู
หลังโบยบินแล้วก็จะทำการผสมพันธุ์และตายลงในที่สุดภายในระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน ซึ่งวงจรชีวิตของมันนับตั้งแต่เริ่มออกมาจากไข่จนถึงช่วงโตเต็มวัยจะอยู่ราว 3-12 เดือน บางตัวอาจมากกว่านั้นเล็กน้อย หิ่งห้อยบกจะมีอายุยืนกว่าหิ่งห้อยน้ำ
การให้แสงของหิ่งห้อยเกิดขึ้นได้อย่างไร
นี่เป็นข้อสงสัยอย่างมากกับแมลงชนิดหนึ่งสามารถเรืองแสงออกมาจากตัวเองได้ ในทางวิทยาศาสตร์เมื่อได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดพบว่า แสงของหิ่งห้อยเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีประเภทหนึ่งเรียกว่า การเรืองแสงทางชีวภาพ (Bioluminescence) จากบริเวณปล้องท้องที่ทำการเปล่งแสงออกมา เกิดได้ทั้งสีเหลือง เขียว หรือแดงอ่อน แสงเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มแสงเย็น คือ ไม่มีความถี่ของรังสีอินฟาเรดและอัลตราไวโอเลต ระดับความยาวคลื่นระหว่าง 510 – 670 นาโนเมตร แต่บางสายพันธุ์อาจพบการเปล่งแสงสีฟ้า เช่น ทางแถบภาคตะวันออกของสหรัฐฯ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามปัจจุบันได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเรืองแสงของหิ่งห้อยให้ละเอียดขึ้นจึงพบว่าจะมีเฉพาะหิ่งห้อยที่โตเต็มวัยเท่านั้นสามารถเรืองแสงออกมาได้ แม้บางตัวจะสังเกตเห็นลักษณะคล้ายหนอนแต่นั่นคือหิ่งห้อยตัวเมียที่ไม่มีปีก
ตำแหน่งของอวัยวะที่เกิดการเรืองแสงก็จะแตกต่างไปตามสายพันธุ์และเพศ (อย่างที่อธิบายไว้ตอนต้น) ซึ่งในปล้องที่เปล่งแสงออกมาได้นั้นจะมีเซลล์ขนาดใหญ่เรียกว่า “โฟโตไซต์” (photocytes) เรียงกันในลักษณะทรงกระบอกบริเวณใต้ผนังลำไส้ใสอยู่ 7,000 – 8,000 เซลล์ เลยทีเดียว ซึ่งเซลล์ตัวนี้ประกอบไปด้วยท่ออากาศและประสาท เมื่อมีปฏิกิริยาทางเคมีของสารลูซิเฟอริน (luciferin) ปะทะกับออกซิเจนบวกกับการมีเอนไซม์ลูซิเฟอเรส และแมกนีเซียมไอออนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา รวมถึงมีสารอดีโนซีนไตรฟอสเฟต ทั้งหมดนี้จึงทำให้เกิดแสงในที่สุด
อีกความน่าประหลาดของหิ่งห้อยคือ พวกมันมักเปล่งแสงหรือปล่อยสารเคมีบางอย่างไปหาคู่ผสมพันธุ์อีกฝ่าย ซึ่งจะทำให้รู้ว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของแสง ระยะเวลา ความสว่าง ช่วงเวลาที่ปล่อย หรือแม้แต่การกะพริบก็จะแตกต่างไปตามสายพันธุ์และถิ่นที่อยู่อาศัยอีกด้วย
ความสำคัญของหิ่งห้อยต่อระบบนิเวศ
การพบเจอหิ่งห้อยหากเป็นหิ่งห้อยบกจะอาศัยอยู่ตามกิ่งไม้ พุ่มไม้ พื้นที่ชุ่มชื้นใกล้กับหนองน้ำ ป่าชายเลน ขณะที่หิ่งห้อยน้ำก็อาศัยตามน้ำนิ่งที่มีความสะอาด เมื่อพวกมันออกจากไข่หากลงไปในน้ำหรือดินที่มีสารเคมีส่วนใหญ่มักตายภายในเวลาอันรวดเร็ว จึงบอกได้ว่าพื้นที่ใดมีหิ่งห้อยเยอะเท่ากับบ่งบอกความสะอาดและความอุดมสมบูรณ์ของทั้งป่าไม้ แม่น้ำลำคลองได้อย่างดี ในอีกมุมพวกมันยังถือเป็น “ตัวห้ำ” คอยจัดการกับพวกหอยเชอรี่ที่มักมาทำลายพืชของเกษตรกรโดยเฉพาะต้นข้าวที่พึ่งปักดำ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นอีกแมลงสำคัญที่ช่วยให้ต้นพืชเติบโตอย่างมีคุณภาพ
แหล่งอ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/หิ่งห้อย
https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/478580
https://www.nwf.org/Educational-Resources/Wildlife-Guide/Invertebrates/Fireflies
https://www.dnp.go.th/FOREMIC/NForemic/newspaper/Agriculture/เวลาของหิ่งห้อย.htm