โลกหลังความตายมีจริงหรือ? ไขคำตอบของความเชื่อด้วยวิทยาศาสตร์

โลกหลังความตาย
สารบัญบทความ
โลกหลังความตาย

ทุกศาสนามีความเชื่อเกี่ยวกับโลกหลังความตาย และความเชื่อเกี่ยวกับความตายนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะกำหนดรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์ เรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับการตายนั้นมีอยู่ในทุกวัฒนธรรม ภาษา และท้องถิ่น โดยส่วนใหญ่แล้วความเชื่อทางศาสนาต่าง ๆ ที่มีมาตั้งแต่โบราณมักจะเชื่อว่า มนุษย์มีจิตวิญญาณ (soul) อยู่ภายใต้เนื้อหนังร่างกาย ซึ่งทำให้สามารถกล่าวได้ว่า จิต (Mind) และ จิตสำนึกรับรู้ (consciousness) ของมนุษย์นั้นดำรงอยู่ได้แม้เราจะตายไปแล้วก็ตาม

สิ่งนี้เองทำให้เกิดเป็นเรื่องราวของความเชื่อเกี่ยวกับโลกหลังความตาย และเรื่องที่ว่าเมื่อตายแล้วจะเป็นอย่างไรนั่นเองที่เป็นเงื่อนไขกำหนดทิศทางว่าเหล่าผู้เชื่อนั้นจะใช้ชีวิตอย่างไร หรือเลือกการตายของตัวเองอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น ข้อถกเถียงเรื่องความถูกต้องของการทำการุณยฆาต การตัดสินการยุติการรรักษา หรือ ผู้ที่ชื่อว่ามีการกลับชาติมาเกิดและสิ่งที่ทำในชีวิตนี้จะส่งผลต่อชาติกำเนิดในภายภาคหน้า พวกเขาจะพยายามสะสม “บุญ” ตามหลักความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา หรือการที่ชาวอียิปต์คิดค้นการทำมัมมี่ (mummification) เพราะเชื่อว่าคนตายจะมีชีวิตใหม่อีกครั้งได้

นอกจากนี้ยังมีหลายศาสนาที่เชื่อว่าชีวิตมนุษย์มีเพียงครั้งเดียวและหลังความตายวิญญาณที่ดีจะได้กลับไปรวมอยู่กับพระเจ้า พวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่บนหลักคำสอนของพระเจ้า เสียสละเพื่อศาสนา ส่วนผู้ที่ไม่เชื่อว่ามีชีวิตหลังความตาย พวกเขาจะใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรีภายใต้หลักการทางมนุษยธรรมให้เต็มที่สมกับชีวิตที่มีอยู่เพียงครั้งเดียว เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าความเชื่อที่แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรมย่อมทำให้มนุษย์ในแต่ละสังคม ยุคสมัย เลือกใช้ชีวิตต่าง ๆ กันไป

คำถามที่ว่าวิญญาณ (spirit) จิต (Mind) และจิตสำนึก (consciousness) ของเรานั้นจะยังคงมีอยู่หลังการตายหรือไม่นั้นเป็นคำถามที่ทั้งนักปรัชญา ศาสนจักร และนักวิทยาศาสตร์หลายคนพยายามค้นหาคำตอบและโต้แย้งกันมาอย่างยาวนาน

โลกหลังความตาย

เมื่อเข้าสู่สภาวะใกล้ตาย

จากการรวบรวมข้อมูลของนักวิจัยด้านประสบการณ์ใกล้ตาย (a near-death experience / NDE) พบว่า 4 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเคยประสบกับเหตุการณ์ที่เข้าใกล้ความตาย (a near-death experience / NDE) . ซึ่งเหล่าผู้คนที่เคยเข้าใกล้ความตายเช่น การหัวใจหยุดเต้นและถูกช่วยชีวิตขึ้นมาใหม่ หรือ การที่อยู่ในสภาวะเฉียดตายต่างอธิบายว่าในตอนนั้นพวกเขาเห็นภาพตนเองและเหตุการณ์ต่าง ๆจากด้านบน มองภาพร่างตนเองและผู้ช่วยชีวิตในฐานะผู้สังเกตการณ์ บางคนอธิบายถึงความรู้สึกที่พวกเขาหลุดออกจากร่างกาย ลอยขึ้นไปในอากาศ

นอกจากนี้บางคนยังอธิบายถึงการที่พวกเขาได้หวนย้อนคืนถึงเรื่องราวในอดีต การได้พบเจอกับบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้า และพวกเขามักกล่าวว่าประสบการณ์ดังกล่าวนั้นให้ความรู้สึกสงบสุข และสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตที่เหลืออยู่ไปโดยอย่างสิ้นเชิง ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวมีนักวิทยาศาสตร์โต้แย้งว่าประสบการณ์เหล่านั้นคือกระบวนการทำงานของสมองและรูม่านตาที่ตอบสนองต่อความล้มเหลวในระบบร่างกาย ทั้งสารเคมีและระบบประสาทที่ผิดปกติจนทำให้เกิดภาพหลอนระหว่างการเข้าใกล้ความตาย

อย่างไรก็ตามงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าคำบอกเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์เหล่านั้นล้วนมาจากผู้ที่เคยเฉียดใกล้ความตายที่มีความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกัน มีระดับการศึกษาต่างกัน และทุกคนต่างมีรูปแบบการรักษาหรือให้ยาที่ต่างกัน และมีทั้งคนที่กลัวความตายและคนที่ไม่กลัวความตาย เท่ากับว่าประสบการณ์ที่พวกเขาพบเจอขณะที่เกือบเสียชีวิตนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคนและไม่ได้เป็นผลมาจากความเชื่อทางศาสนา ทัศนคติต่อการตาย การศึกษา หรือรับการรักษาในรูปแบบใดก็ตาม

จิตวิญญาณ

การค้นพบที่น่าฉงน กับสิ่งที่หาคำตอบไม่ได้

Emily Williams Kelly นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียผู้ทำการศึกษาค้นคว้าด้าน Division of Perceptual พยายามทำการรวบรวมข้อมูลจากผู้ที่ประสบกับภาวะเฉียดตายตั้งข้อสังเกตว่า หากจิตและสมองคือเรื่องเดียวกันเท่ากับว่าเมื่อสมองตาย จิตและชีวิตก็จบลงไปด้วย ดังนั้นจึงไม่มีโลกหลังความตาย แต่ในความเป็นจริงแล้วพบว่าแม้สมองคนไข้ที่เกือบจะใช้การไม่ได้และสังเกตได้ว่าไม่สามารถทำงานได้ปกติ พวกเขาก็ยังประสบกับเหตุการณ์คล้าย ๆกันคือเห็นภาพต่าง ๆขณะที่ใกล้สิ้นใจ ดังนั้น Emily จึงเห็นว่านักวิทยาศาสตร์ควรเปิดกว้างต่อการศึกษาด้านจิต (Mind) และจิตสำนึกของมนุษย์ (consciousness) ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยในกลุ่มคนที่ได้รับการทำ CPR และคนที่อยู่ในภาวะ โคม่า พบว่า 1 ใน 5 ของผู้ที่รอดชีวิตมีประสบการณ์เห็นภาพ เช่น เห็นว่าตนเองมองภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ในฐานะผู้สังเกตการณ์และไม่รู้สึกเจ็บปวด มีประสบการณ์ที่รับรู้ถึงการที่จิตหลุดออกจากร่าง ซึ่งนักวิจัยยังพบว่า คลื่นสมองของพวกเขาขณะที่ระบบต่าง ๆ ในร่างกายกำลังล้มเหลวยังคงมีราวกับพวกเขารับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้โดยปกติ

นักวิจัยกล่าวว่าประสบการณ์ที่เผชิญขณะใกล้ตายของผู้ป่วยนั้น ต่างจากความฝัน อาการหลงผิด (delusion) ประสาทหลอน (hallusination) การแปลสารผิด (illusion) หรือสภาวะรับรู้ขณะทำ CPR (CPR-induced consciousness) แต่กลับเป็นการรับรู้ที่เกิดขึ้นในรูปแบบคล้ายกับตอนที่พวกเขามีสติสัมปชัญญะครบถ้วน มีความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งเหล่านี้มักไม่เกิดขึ้นในผู้ที่มีประสาทหลอนที่สามารถเห็นร่างกายของตนเองได้ในฐานะผู้สังเกตการณ์

ผลวิจัยนี้แม้จะสรุปไม่ได้ว่าชีวิตหลังความตายมีจริงอย่างแน่นอน แต่ก็กล่าวได้ว่า แม้แต่ตอนที่อยู่ในโคม่า สมองและร่างกายกำลังหยุดการทำงานหรืออยู่ในสภาวะล้มเหลว แต่จิตสำนึก (consciousness) การตระหนักรู้ถึงตัวตนของตัวเอง (sense of self) ไม่ได้กำลังดับไปด้วยพร้อมกับสมองและร่างกายนั่นเอง และยังมีข้อสังเกตที่ว่าประสบการณ์การเห็นภาพและความรู้สึกระหว่างเข้าใกล้ความตายอาจจะไม่ใช่การทำงานที่ผิดปกติของสมองก็เป็นได้

ชีวิตหลังความตาย

ปัญหาใหญ่ในการหาข้อสรุปเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย

นักวิทยาศาสตร์หลายท่านให้ความสนใจกับประเด็นที่ว่าจิตวิญญาณและจิตสำนึก (consciousness) ของมนุษย์นั้นไม่ใช่เพียงเรื่องผลการทำงานของสมอง ดังนั้นแม้สมองและร่างกายจะสูญสิ้นไปแล้วจิตวิญญาณและจิตสำนึก (consciousness) ของมนุษย์ยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ววิทยาศาสตร์จะค้นพบคำตอบว่าอะไรเป็นไปได้ และเกิดจากอะไร แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง

ซึ่งชีวิตหลังความตายที่แต่ละคนเคยประสบจากเหตุการณ์ใกล้ตายนั้นเป็นเรื่องที่ยากที่จะหาข้อสรุปอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์เพราะประสบการณ์ดังกล่าวนั้นเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่แต่ละคนมีแตกต่างกันไป ยากจะหาข้อพิสูจน์ ไม่สามารถหารูปแบบ (pattern) หรือทดลองซ้ำได้ นอกจากนี้บุคคลที่ตายไปแล้วจริง ๆ ก็ไม่สามารถให้ข้อมูลกับนักวิทยาศาสตร์ได้ด้วยว่าพวกเขายังคงอยู่หลังความตายหรือไม่อีกด้วย

โลกหลังความตาย

เรื่องน่าพิศวง การล่วงรู้ถึงอนาคตในเฉพาะปัจเจกบุคคล

มีการวิจัยในคนเข้าทรง (Medium) ซึ่งนอกจากเรื่องเล่าที่พิสูจน์ไม่ได้มากมายเกี่ยวกับการที่คนทรงทายแม่น หรือรู้รายละเอียดของคนที่ตายไปแล้ว ก็ยังมีการทดลองพบว่า มีคนทรงที่บอกเล่าเรื่องราวได้ถูกต้อง และสมองของคนทรงขณะที่เชื่อมต่อกับวิญญาณนั้น ไม่ใช่การทำงานของสมองในรูปแบบเดียวกับการจินตนาการ เท่ากับว่าข้อมูลที่ออกมาจากคนทรงดังกล่าวไม่ใช่เรื่องราวที่พวกเขาจินตนาการอยู่นั่นเอง และยังพบว่ายิ่งคนทรงลดการทำงานของสมองส่วนหน้าอันเป็นส่วนควบคุมตัวเองลงมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะยิ่งทายถูกแม่นยำมากขึ้น

อีกทั้งประเด็นเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ต้นไม้ ใบหญ้าที่ไม่มีสมองเช่นเดียวกับมนุษย์แต่กลับมีสัญชาติญาณเอาตัวรอด และเราก็ผูกพันเชื่อมโยงกับธรรมชาติโดยแยกออกจากกันและกันไม่ได้ นอกจากนี้เรายังพบว่าสมองเปลี่ยนแปลงการทำงานไปเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน และประสบการณ์ในชีวิตที่มนุษย์พบเจอต่างสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่โครงสร้างและการทำงานของสมองทั้งสิ้น เช่นตัวอย่างงานวิจัยมากมายที่ค้นพบว่าการฝึกสมาธิ (mindfullness) นั้นส่งผลเปลี่ยนแปลงในแง่ดีต่อสมอง

ดังนั้นความเชื่อที่ว่า สมองคือผู้ควบคุมเบ็ดเสร็จที่คอยกำหนดการมีอยู่ของทุกอย่างในจิต (Mind) และ จิตสำนึก (conscious) นั้นอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมดเสมอไปก็ได้

จิตและสมองอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

จิต

ปัจจุบันงานวิจัยยังไม่สามารถระบุได้ว่าสมองส่วนใดที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการสร้าง จิตสำนึก (consciousness) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายคนยอมรับว่าการอธิบายทำงานของสมองเกี่ยวกับการรับรู้ตัวตน (sense of self) ของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอย่างมาก

ยังมีข้อถกเถียงหลายอย่างเกี่ยวกับจิตใจและสมองเช่น เพราะสารเคมีผิดปกติเลยเป็นซึมเศร้า หรือเพราะจิตใจโศกเศร้าจากการเผชิญกับเรื่องเลวร้าย ไม่สามารถปรับตัวได้จึงทำให้สมองทำงานผิดปกติ ซึ่งทั้งแพทย์และนักจิตวิทยาทั่วโลกต่างเห็นตรงกันว่าการดูแลโรคซึมเศร้านั้นไม่สามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืนด้วยการใช้ยาที่ปรับสารเคมีในสมองเพียงอย่างเดียว เป็นที่รู้กันดีว่าการปรับความคิด และมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ นั้นจำเป็นต้องทำร่วมควบคู่ไปด้วย

บทสรุป: โลกหลังความตาย

เหล่านี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนว่า จิต (Mind) และ จิตสำนึก (conscious) นั้นไม่ได้เพียงเป็นสิ่งที่เกิดจากการทำงานของสารเคมีในสมองเท่านั้น ซึ่งแม้ในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ในเชิงประจักษ์ว่าโลกหลังความตายมีอยู่จริง แต่มีงานวิจัยมากมายที่เป็นข้อสังเกตถึงการมีอยู่ของจิต (Mind) และ จิตสำนึก (conscious) ที่ไม่ใช่เป็นเพียงผลจากปฏิกิริยาของสมอง ซึ่งนำไปสู่แนวคิดที่ว่า จริง ๆ แล้วมนุษย์อาจจะมีจิตวิญญาณที่ยังคงมีอยู่ต่อไปในอีกโลกหนึ่งแม้ว่าร่างกายจะดับสิ้นไปแล้วนั่นเอง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : Immortal science เมื่อมนุษย์เริ่มเอาชนะความตายด้วยวิทยาศาสตร์

เอกสารอ้างอิง

  1. Toscani F, Borreani C, Boeri P, Miccinesi G. Life at the end of life: beliefs about individual life after death and “good death” models – a qualitative study. Health Qual Life Outcomes. 2003 Nov 7;1:65. doi: 10.1186/1477-7525-1-65. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC280703/
  2. Sharon Hewitt Rawlette Ph.D. April 29, 2022 . Does an Afterlife Obviously Exist? https://www.psychologytoday.com/us/blog/mysteries-consciousness/202204/does-afterlife-obviously-exist
  3. Lisa Miller.April 20, 2014. Beyond Death: The Science of the Afterlife. https://time.com/68381/life-beyond-death-the-science-of-the-afterlife-2/
  4. WESLEY J. SMITH .November 7, 2022. Does a New Scientific Study Offer Evidence of Life after Death? https://www.nationalreview.com/corner/does-a-new-scientific-study-offer-evidence-of-life-after-death/ .
  5. Katherine S. Young, Anne Maj van der Velden, Michelle G. Craske, Karen Johanne Pallesen, Lone Fjorback, Andreas Roepstorff, Christine E. Parsons,
  6. The impact of mindfulness-based interventions on brain activity: A systematic review of functional magnetic resonance imaging studies,Neuroscience & Biobehavioral Reviews,Volume 84, 2018, https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC280703/
  7. Emily Henderson, B.Sc. January 10. 2023 . Study opens a new view about the science of consciousness https://www.news-medical.net/news/20230109/Study-opens-a-new-view-about-the-science-of-consciousness.aspx
  8. Alexander Moreira-Almeida, Marianna de Abreu Costa ,Humberto Schubert Coelho. 2022. Science of Life After Death. SpringerBriefs in Psychology. https://doi.org/10.1007/978-3-031-06056-4