หากพูดถึงสัตว์ที่ชอบออกหากินในเวลากลางคืนและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ “นกเค้าแมว” รวมอยู่ด้วยแบบไม่ต้องสงสัย ด้วยรูปแบบการล่าเหยื่อและลักษณะร่างกายที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้นกชนิดนี้ได้รับการขนานนามเป็นหนึ่งในสัตว์นักล่าสูงสุดบนห่วงโซ่อาหารเลยทีเดียว หากใครอยากทำความรู้จักกับพวกมันให้มากขึ้นลองมาศึกษาข้อมูลดี ๆ ในเรื่องที่น่าสนใจทั้งหมดกันได้เลย
ข้อมูลทั่วไปของ “นกเค้าแมว”
“นกเค้าแมว” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Glaucidium Cuculoides ซึ่งเป็นสัตว์ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “นกเค้า” ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกที่หลากหลาย เช่น นกเค้าโมง นกเค้า รวมถึง “นกฮูก” ก็ถือเป็นสัตว์ที่อยู่ในวงศ์เดียวกันโดยจัดเป็นกลุ่มวงศ์นักล่าเหยื่อลำดับ Strigiformes ภายใต้ชื่อวงศ์ Strigidae
ทั่วโลกมีสายพันธุ์ของนกเค้ารวมแล้ว 200 ชนิด ในเมืองไทยของเรามีนกประเภทนี้อยู่ 19 ชนิด ทำให้ชื่อในบางพื้นถิ่นก็จะเรียกกันตามลักษณะที่พบเจอ เช่น นกเค้าลิง นกแสก นกเค้ามะกอก นกเค้าหู นกเต้าแมว เป็นต้น ขณะที่ในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “Owl” เป็นชื่อเรียกสัตว์กลุ่มนี้แทบทั้งหมด
พื้นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเค้าแมวสามารถพบเจอได้ทั่วโลกบริเวณที่มีป่าหรือต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ไล่ตั้งแต่ป่าดิบชื้น ป่าทึบ พื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,980 เมตร หรือแม้ต่บริเวณสวนสาธารณะทั่วไป ยกเว้นแค่แถบขั้วโลกใต้ หรือเกาะบนมหาสมุทรบางพื้นที่เท่านั้น ด้วยลักษณะนิสัยที่นิยมออกล่าเหยื่อในเวลากลางคืนส่งผลให้ระบบสายตาและหูของพวกมันสามารถมองเห็นและได้ยินเสียงดีกว่านกประเภทอื่น ๆ
ลักษณะทั่วไปของนกเค้าแมว
ทั้งนี้จุดเด่นพิเศษอย่างหนึ่งของสัตว์ในกลุ่มนกเค้าแมวคือพวกมันสามารถหมุนคอไปรอบทิศทางได้ถึง 270 องศา เหตุเพราะบริเวณคอจะมีกระดูกสันหลังมากถึง 14 ชิ้น (มากที่สุดในโลก) ในตอนเกิดใหม่ ๆ ตรงส่วนหัวอาจมีลายจุดเล็ก ๆ คล้ายนกเค้าแคระ ลักษณะเด่นของกลุ่มนกชนิดนี้จะแบ่งตามลักษณะต่างๆ ดังนี้
ใบหน้าและดวงตา
ความโดดเด่นของสัตว์ในตระกูลนกเค้าแมวที่เด่นชัดสุดต้องยกให้กับดวงตาคู่โต นัยน์ตาสีเหลือง อยู่บริเวณด้านหน้าของหัว ตรงรอบดวงตามักมีขนกระจายตัวออกคล้ายจานกลม ๆ ขนาดใหญ่ บางสายพันธุ์อาจมีขนหูยื่นออกมาถัดออกไปจากส่วนคิ้ว ขอบใบหน้าจะมีเส้นสีที่ตัดกับลำตัวเพื่อบ่งบอกถึงความแตกต่างอวัยวะส่วนอื่นแบบชัดเจน จะงอยปากงุ้มแหลมลงด้านล่าง มีความแข็งแรงมาก มีสีเนื้อ (สีเดียวกับส่วนขา) กรงเล็บนิ้วแหลมคมและยาว ใช้สำหรับการบินโฉบจับเหยื่อและฉีกออกเมื่อต้องการกินอาหาร
ขน
ทางด้านสีขนจะขึ้นบริเวณหลังกับปีกเป็นสีน้ำตาล บางสายพันธุ์ออกไปทางน้ำตาลเข้ม เทา ดำ สลับตัดเป็นสีสันอ่อน-เข้มใกล้เคียงกัน ขณะที่ตรงช่วงอกกับท้องด้านล่างจะมีสีอ่อนกว่า บางชนิดเป็นสีขาวพร้อมลายขนตามแนวตั้งยาวมจนถึงส่วนอกแบบไม่เป็นระเบียบ หางไม่ยาวมากนัก
ขนาด
ขนาดของนกเค้าแมวจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของพวกมัน บางตัวอาจมีน้ำหนักเพียง 40 กรัม เช่น นกเค้าเอลฟ์ (Micrathene Whitneyi) ลำตัวยาวไม่เกิน 14 ซม. ปีกยาว 20 ซม. ไปจนถึงบางสายพันธุ์อย่าง นกเค้าอินทรียูเรเชีย (Bubo bubo) น้ำหนักตัวประมาณ 4 กิโลกรัม ความยาวปีก 75 ซม.
วงจรชีวิตและการล่าเหยื่อของนกเค้าแมว
ปกติแล้วนกเค้าแมวจะนิยมวางไข่ในรังตามโพรงธรรมชาติ บนต้นไม้ ริมหน้าผา โพรงรูหนู หรือแม้แต่ในโพรงของนกตัวอื่นที่ไม่ได้อยู่อาศัยแล้ว ขณะที่บางสายพันธุ์หากอาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง ตามสวนสาธารณะก็อาจพบเห็นรังพวกมันอยู่ตรงช่องหรือโพรงอาคาร จากนั้นเมื่อมีการผสมพันธุ์ตัวเมียจะเริ่มวางไข่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่ละครั้งที่วางไข่มีได้ตั้งแต่ไม่กี่ใบไปจนถึงสูงสุดเกิน 10 ใบ ซึ่งไข่จะมีความกลมมนมากกว่านกประเภทอื่น โดยไม่ได้วางพร้อมกันทีเดียว แต่จะค่อย ๆ วางครั้งละ 1-2 ใบ ห่างกันประมาณ 2-3 วัน
จากนั้นเมื่อถึงช่วงเวลาฟักไข่ใบไหนที่ถูกวางไว้ก่อนก็จะเกิดขึ้นก่อน และใบอื่น ๆ อาจมีลูกนกเค้าแมวฟักออกมาห่างกันประมาณ 1-3 สัปดาห์ การหาอาหารให้กับลูกนกแม่จะบินไปไล่ล่าเหยื่อในเวลากลางคืน จากนั้นจึงนำมาป้อนทางปากจนกว่าพวกมันจะค่อย ๆ เริ่มบินด้วยตนเองได้ อย่างไรก็ตามหากรังไหนมีลูกนกเยอะมากและแม่ไม่สามารถหาอาหารได้เพียงพอ ลูกนกตัวเล็กหรือตัวที่เกิดช้ากว่าก็อาจอดตายได้เช่นกัน
เมื่อพวกมันเริ่มโตเต็มวัยก็จะออกไปบินล่าเหยื่อ ซึ่งอาหารของนกประเภทนี้มีทั้งกิ้งกือ ไส้เดือน หนอน หนู กิ้งก่า จักจั่น ตั๊กแตน ด้วง หอย ปู แมลง นกขนาดเล็กบางสายพันธุ์ งูหรือสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก อาจมีบางสายพันธุ์หรือตามถิ่นที่อยู่อาศัยที่ล่าปลาเป็นอาหาร ด้วยสายตาอันแสนคมพวกมันจะใช้วิธียืนอยู่นิ่ง ๆ พรางตัวบนกิ่งไม้สูงในเวลากลางคืน ไม่มีการใช้เสียงสะท้อนนำทางเหมือนนกหลายสายพันธุ์
ในขณะที่มองหาเหยื่อพวกมันจะไม่สามารถขยับดวงตาเคลื่อนที่ไปทางไหนได้ จึงต้องอาศัยการหันลำคอแทน ซึ่งด้วยการมองเห็นแบบรอบทิศทางแบบแทบไม่ต้องขยับตัวนี่เองจึงสามารถพรางตัวได้อย่างเงียบสงบ เมื่อเห็นเหยื่อที่ต้องการก็จะบินโฉบลงไปอย่างรวดเร็วเพื่อใช้กรงเล็บเกี่ยวพวกสัตว์โชคร้ายตัวนั้นขึ้นมา ตามด้วยการฉีกเหยื่อจนตาย หรือถ้าสัตว์มีขนาดเล็กก็อาจบินลงไปด้านล่างแล้วใช้จะงอยปากกัดเหยื่อทันที
รูปแบบการกินอาหารจะใช้วิธีกลืนทั้งตัว จากนั้นจะมีการสำรอกส่วนที่ภายในร่างกายไม่สามารถย่อยได้ เช่น ขน กระดูกแข็ง ออกมาเป็นก้อน หรือในกรณีที่พวกมันบินไปโฉบกินปลา แล้วปรากฏปลาตัวนั้นพึ่งกินปลาตัวอื่น สิ่งที่สำรอกออกก็อาจเป็นปลาตัวเล็กแทน
ความสำคัญต่อระบบนิเวศ
ด้วยการที่นกเข้าแมวเป็นสัตว์กินเนื้อที่ออกล่าสัตว์ขนาดเล็กบางชนิดเป็นอาหาร ทำให้พวกมันถือเป็นหนึ่งในสัตว์นักล่าที่คอยควบคุมประชากรของแมลงและสัตว์บางชนิดไม่ให้มีจำนวนเยอะมากเกินไป รวมถึงหากพวกมันอาศัยอยู่ใกล้เคียงกับไร่สวนของผู้คนยังช่วยจัดการกับวัชพืช หนูขนาดเล็ก และแมลงที่มักทำลายผลผลิตได้อีกด้วย จากที่กล่าวมาหากมองในภาพกว้างไปกว่านั้นการที่พวกมันกินหนูเป็นอาหารยังช่วยป้องกันโรคที่มาจากหนูไม่ให้เกิดขึ้นกับมนุษย์ได้อีกด้วย เช่น โรคฉี่หนู โรคท้องร่วง โรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น
ภัยคุกคามที่มักทำให้นกเค้าแมวลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว
แม้หลายคนจะคุ้นเคยกับสัตว์ชนิดนี้และรู้สึกว่าพบเจอได้บ่อย ๆ แต่ในความเป็นจริงพวกมันกลับลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว หรือในบางสายพันธุ์ก็ได้สูญพันธุ์ไปแล้วเรียบร้อย ซึ่งสาเหตุสำคัญก็มีด้วยกันหลายปัจจัย เช่น ปริมาณป่าไม้อุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหลักของพวกมันลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถกำจัดวางไข่ได้
แต่พอมาอยู่อาศัยตามสวนตามไร่ของมนุษย์ ก็เจอกับยาฆ่าแมลงที่สัตว์และแมลงต่าง ๆ ได้กินเข้าไป เมื่อพวกมันกินสัตว์เหล่านั้นก็เกิดผลกระทบและตายลง ไม่นับรวมกับการบินแล้วไปโดนกับรั้วสายไฟ การโดนไล่ล่าจากมนุษย์ที่ต้องการนำลูกตัวเล็กมาขาย โดนรถเหยียบบนถนน หรือแม้แต่การโดนฆ่าตายด้วยน้ำมือมนุษย์ เช่น การยิงด้วยปืน หนังสติ๊ก การทำลายรัง ฯลฯ เพียงเพราะความเชื่อที่ว่าพวกมันคือสัตว์ให้โชคร้าย
หลังทำความรู้จักกับนกเค้าแมวกันมากขึ้นแล้วเชื่อว่าจะทำให้ทุกคนเปลี่ยนความคิดกันพอสมควร เพราะพวกมันเองก็มีความสำคัญในระบบนิเวศไม่แพ้สัตว์ชนิดอื่น รวมถึงยังไม่ทำร้ายมนุษย์ แต่ในทางตรงข้ามกลับช่วยเหลือแบบทางอ้อมอีกต่างหาก ใครที่พบเห็นพวกมันก็อย่าไปไล่ ไปทำร้ายหรือไปจับมาเลี้ยง ปล่อยให้เค้าใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติจะเป็นการดีที่สุดครับ
References
บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ