“มดง่าม” สัตว์ตัวจิ๋วภายใต้สังคมชั้นสูง

มดง่าม
สารบัญบทความ
มดง่าม

หากเอ่ยถึง “มด” หลายคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดีว่านี่คือสัตว์ตัวเล็กที่มีความน่าเกรงขามใช่ย่อย ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อไหร่ก็ตามที่อยู่รวมกันเป็นฝูง ซึ่งหนึ่งในสายพันธุ์ของมดที่อยากพาทุกคนมาทำความรู้จักนั่นคือ มดง่าม ซึ่งจะมีความแตกต่างจากมดทั่วไปมากน้อยแค่ไหน รวมถึงมีสิ่งน่าสนใจเพียงใด ลองศึกษาข้อมูลดี ๆ ที่จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจกับสัตว์ตัวเล็กผู้ซึ่งอยู่คู่กับโลกใบนี้มาอย่างช้านานได้ดียิ่งขึ้น

ข้อมูลทั่วไปของ “มดง่าม”

มดง่าม ไข่
อ้างอิง: www.gamergate.com.au/photos/pheidole-sp-3

มดง่าม” มีชื่อสามัญว่า “Pheidole Jeton Driver Asus” (บ้างก็เรียก Carebara Diversa) หรือชื่อที่คนทั่วไปจะคุ้นเคยกันอย่าง “East Indian Harvesting Ant” ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ “Pheidole sp.” ส่วนในบ้านเราภาษาพื้นถิ่นที่ใช้เรียกชื่อมดประเภทนี้ก็มีหลากหลาย อาทิ มดแง่ม มดง่ามทุ่ง เหิงเติบ เป็นต้น จัดอยู่ในไฟลัม Arthropoda วงศ์ Formicidae ลำดับ Hymenoptera

ทั้งนี้หากจะแยกประเภทของมดทั่วโลกจริง ๆ มีอยู่ด้วยกันมากกว่า 12,000 สายพันธุ์ ที่สำคัญมดเป็นสัตว์ที่อยู่คู่โลกมายาวนานมากกว่า 140 ล้านปี โดยมักอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะและสันฐานของตนเองมาตลอดเพื่อปรับตัวเองให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป มีการแบ่งหน้าที่จัดสรรการทำงานของแต่ละฝ่ายชัดเจน นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่บ่งบอกได้ว่า “มดง่าม” ถือเป็นสัตว์สังคมชั้นสูงเทียบเคียงกับการใช้ชีวิตของมนุษย์ก็คงไม่ผิดแปลกไปจากที่อธิบายมากนัก

มดง่าม
มดง่ามทหารจะมีขนาดใหญ่กว่ามดงานอย่างชัดเจน โดยเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดใหญ่เทียบเท่านางพญา อ้างอิง: www.singaporegeographic.com/insects/insect/east-indian-harvesting-ant-carebara-diversa

ลักษณะทั่วไปของมดง่าม

“มดง่าม” ตัวโตเต็มวัยจะมีลักษณะเด่นชัดเจนนั่นคือลำตัวแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ บริเวณหัวรูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัส กรามมีขนาดใหญ่ ปากใช้สำหรับกัดกินทั่วไป ไม่มีเหล็กใน แต่ถ้าโดนกัดแล้วด้วยความแข็งแรงของกรามมักทำให้คนรู้สึกคัน ชา หรือมีผื่นขึ้น สังเกตเห็นชัดมาก ตาเดี่ยว 1 ดวง จะอยู่เหนือตารวม 2 ดวงด้านบน ส่วนมากพบในมดเพศผู้และราชินีมด หนวดมีลักษณะหักศอกตั้งแต่ 3-13 ปล้อง ขึ้นอยู่กับเพศและลักษณะเฉพาะ (ส่วนใหญ่เพศผู้มี 9-13 ปล้อง ส่วนเพศเมียมี 3-12 ปล้อง มดงานมี 12 ปล้อง) ความยาวเพียงแค่ครึ่งศีรษะจะทำหน้าที่สื่อสารและรับความรู้สึก

บริเวณอก อกปล้องแรกกับอกปล้องกลางจะมีความนูนใหญ่ ขณะที่ส่วนท้องจะอยู่ตรงอกปล้องสุดท้ายมีความคงมนลงด้านล่าง ขนาดกว้างเหมือนรูปไข่ ทุกส่วนของร่างกายทั้งหมดมีสีน้ำตาลเข้ม ขนาดความยาวประมาณ 4.5 – 13 มิลลิเมตร ทั้งนี้การเจริญเติบโตของมดง่ามจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วงเวลา ได้แก่

  • ระยะไข่ ตัวเมียหรือนางพญาจะทำการวางไข่ประมาณ 10-20 ฟอง หลังจากมีการผสมพันธุ์ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก จากนั้นพวกมันจะอยู่ในไข่ราว 8-10 วัน ก่อนฟักออกมาเป็นตัวอ่อน
  • ระยะตัวอ่อน แบ่งออกได้ 4 ระยะ หลัก ๆ แล้วจะมีเมือกสีขาวปกคลุมอยู่ด้านนอก ซึ่งจะเฉลี่ยเวลาประมาณ 6-12 วัน
  • ระยะดักแด้ เมื่อตัวอ่อนเริ่มโตเต็มที่จะเข้าสู่การเป็นดักแด้ ระยะเวลา 9-12 วัน
  • ระยะตัวเต็มวัย อายุเฉลี่ยหากเป็นมดงานจะอยู่ประมาณ 30-180 วัน ส่วนมดนางพญามีอายุได้ยาวนาน 2-6 ปี ซึ่งความพิเศษของนางพญาคือ ตลอดทั้งชีวิตของพวกมันสามารถผลิตไข่มดออกมาได้มากกว่า 2 ล้านใบ

จากที่อธิบายมาจึงพอสรุปได้ว่าช่วงชีวิตของมดง่าม 1 ตัว จะพัฒนาจากระยะไข่ไปจนถึงระยะตัวโตเต็มวัยประมาณ 1 เดือน จากนั้นก็จะทำหน้าที่ของตนเองต่อไป

มดง่ามราชินี
นางพญามดง่าม อ้างอิง: www.gamergate.com.au/studio-photos/pheidole-sp-1

การแบ่งวรรณะของมดง่าม

อย่างที่ได้อธิบายเอาไว้ในตอนต้นว่า “มดง่าม” ถือเป็นสัตว์อยู่ในกลุ่มชั้นสังคมสูง ภายในรังของพวกมันนจึงมีการแบ่งวรรณะเอาไว้อย่างชัดเจน หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือ แบ่งหน้าที่ของแต่ละตัวว่าเมื่อเกิดมาแล้วต้องทำอะไรบ้าง ดังนี้

  • นางพญา หรือราชินี จะมีปีกแบบใส หน้าที่แค่การวางไข่พร้อมคุมประชากรภายในรังของตนเองให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น
  • มดตัวผู้ ขนาดจะใกล้เคียงกับมดงาน มีตาเดี่ยว หัวเล็ก หนวดสั้นมาก ปีก 2 คู่ ทำหน้าที่ผสมพันธุ์กับธิดาราชินี หรือมดตัวเมีย ในช่วงฤดูผสมพันธุ์
  • มดตัวเมีย จะมีขนาดตัวใหญ่กว่ามดตัวอื่นในรังของตนเอง ปีก 2 คู่ ช่วงก้นใหญ่ ทำหน้าที่ผสมพันธุ์และขยายขอบเขตอาณาจักรของตนเอง หากวางไข่ได้มากก็มีโอกาสขึ้นสู่การเป็นพญามด
  • มดงาน มดง่ามวรรณะนี้จะไม่มีเพศ จึงไม่สามารถผสมพันธุ์ได้ มีหน้าที่เฉพาะการหาอาหาร ป้องกันรังของตนเอง และขยายขอบเขตอาณาจักรออกไปเรื่อย ๆ
  • มดพยาบาล ขนาดลำตัวจะเล็กมากที่สุดในบรรดามดง่ามทั้งหมด ไม่มีเพศ ไม่ออกหากิน หน้าที่ของพวกมันมีแค่ดูแลไข่กับดูแลนางพญา คอยทำหน้าที่ป้อนอาหารทั้งนางพญาและตัวอ่อนที่อยู่ในรัง
  • มดทหาร ขนาดตัวและหัวจะใหญ่มาก รวมถึงกรามแข็งแรง ไม่มีเพศ ทำหน้าที่ดูแลมดงาน คอยต่อสู้กับศัตรูที่จะเข้ามารุกรานอาณาเขตของตนเอง

พฤติกรรม อาหาร และแหล่งที่อยู่อาศัยของมดง่าม

มดง่าม คือ
อ้างอิง: www.gamergate.com.au/photos/pheidole-sp-5

ความน่าประหลาดใจอย่างหนึ่งคือ “มดง่าม” จะไม่มีผู้นำในการสั่งงานใด ๆ ทั้งสิ้น มดนางพญาจะทำหน้าที่แค่วางไข่เพียงอย่างเดียว ส่วนมดตัวอื่น ๆ ก็จะทำตามวรรณะของตนเองอย่างเคร่งครัด ไม่มีการทะเลาะ แย่งชิง หรือขัดแย้งใด ๆ แม้ใน 1 รังอาจมีสมาชิกมากกว่า 5 แสนตัว แต่พวกมันก็สามารถอยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างสงบสุข ซึ่งหลักการเช่นนี้ในทางวิทยาศาสตร์จะเรียกเป็น “ระบบจัดการภายในตัวเอง” หรือ Self-Organizing จึงถือว่ามีวิถีแห่งความเป็นสัตว์สังคมได้ใกล้เคียงกับมนุษย์อย่างมาก แต่ในทางปฏิบัติพวกมันทำได้ดีกว่าหลายเท่า

อีกความแตกต่างที่ชัดเจนมาก ๆ ของมดง่ามคือ พวกมันจะมีรังถาวรเป็นของตนเอง ซึ่งต่างจากมดทั่วไปที่มักย้ายรัง ย้ายที่อยู่บ่อยครั้ง หากนางพญาในรังของตนเองตายมดที่เหลือก็มักไปรวมกับฝูงมดง่ามกลุ่มอื่น ๆ ต่อ ทั้งนี้ภายใน 1 รัง อาจมีมดนางพญาได้มากถึง 16 ตัว เลยทีเดียว

การทำรังมีด้วยกันหลายรูปแบบตั้งแต่การอยู่บนต้นไม้ขนาดใหญ่ ซากไม้ล้ม ใต้พื้นดิน ขอนไม้ กิ่งไม้ผุพัง หรือแม้แต่บริเวณใต้ก้อนหิน วัสดุหลักหากอยู่บนต้นไม้มักใช้ใบไม้ซึ่งมดงานจะทำหน้าที่ขนใบไม้ชนิดต่าง ๆ มาและให้ตัวอ่อนทำการปล่อยสารเหนียวชนิดหนึ่งเพื่อยึดใบไม้เหล่านี้ให้ติดกันจนเกิดเป็นรังขนาดใหญ่ ภายในมีฝูงมดง่ามอาศัยอยู่จำนวนมาก

อาหารหลักของมดชนิดนี้มักกินแมลงที่มีขนาดเล็กกว่า รวมถึงซากสัตว์เล็ก ๆ ที่ตายแล้ว เศษอาหารที่ถูกทิ้งไว้ บางครั้งก็กินพืช นิสัยในการออกล่าของพวกมันจะมีความก้าวร้าว ดุร้าย โดยจะทำการดึงเอาอาหารแบกลากกลับมาที่รังของตนเองเพื่อให้มดตัวอื่นกินกันต่อไป

ถิ่นที่อยู่อาศัยสามารถพบเจอมดง่ามได้ในหลายพื้นที่ทั้งแถบประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การผสมพันธุ์ของมดง่าม

การผสมพันธุ์เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูผสมพันธุ์มดธิดาราชินี หรือกลุ่มมดตัวเมียกับมดตัวผู้ มักมีการออกจากรังด้วยการบินเตี้ย ๆ ไปผสมพันธุ์กันกลางอากาศ แต่หากบางตัวไม่สามารถบินได้ก็จะผสมพันธุ์กันบนพื้นดิน ซึ่งฤดูผสมพันธุ์ของพวกมันจะอยู่ราวเดือนเมษายน – พฤษภาคม หลังมดตัวผู้ทำหน้าที่ตนเองเสร็จสิ้นก็จะตายในเวลาต่อมา ขณะที่มดตัวเมียจะเก็บน้ำเชื้อเอาไว้ในท้อง จากนั้นก็เริ่มมองหาแหล่งทำรังใหม่ของตนเอง มีการสลัดปีกออกและเดินไปตามเส้นทางซึ่งถือเป็นช่วงที่พวกมนอ่อนแอมากที่สุด และจำนวนไม่น้อยที่มักตกเป็นเหยื่อของสัตว์ชนิดอื่น

มดง่าม มีนิสัยอย่างไร
มดงาน(ซ้าย), มดทหาร(ขวา) อ้างอิง: www.wildsouthaustralia.info/Insects/Formicidae-Ants/Pheidole/Pheidole-sp1/i-tDDRt83

ความสำคัญต่อระบบนิเวศ

การที่มดง่ามกระจายทำรังอยู่ตามซากไม้ผุพังช่วยให้ไม้ดังกล่าวย่อยสลายได้เร็วขึ้น ส่วนกลุ่มมดง่ามที่ทำรังอยู่ใต้ดินก็มีส่วนสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพของดิน เพิ่มธาตุอาหาร เกิดการหมุนเวียนให้ต้นไม้มีการเติบโตสร้างร่มเงาและออกซิเจนต่อไป

จากที่บอกเล่ามาทั้งหมดต้องยอมรับว่า “มดง่าม” นับเป็นสัตว์ที่มีวรรณะและอยู่อาศัยแบบสังคมที่ชัดเจนมาก การวิวัฒนาการแบบนี้ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าแม้ผ่านระยะเวลามายาวนานนับล้านปี จึงไม่แปลกที่พวกมันจะสามารถปรับสภาพตนเองและยังคงอยู่อาศัยได้อีกนานแสนนานบนโลกใบนี้

References

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

RECENT POSTS