ฟอสฟอรัส (Phosphorus) คือแร่ธาตุที่สามารถพบได้ทุกเซลล์ของร่างกาย และมีปริมาณมากเป็นอันดับสอง รองจากแคลเซียม โดยจะอยู่ในรูปของสารประกอบฟอสเฟต และมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางเคมีของร่างกายเกือบทุกส่วน จึงมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายเป็นอย่างมาก ทั้งการทำงานของหัวใจ ไต ความแข็งแรงของโครงสร้างกระดูกและฟัน และฟอสฟอรัสยังมีความสำคัญต่อกระบวนการส่งต่อสัญญาณประสาท และช่วยให้ร่างกายสามารถนำพลังงานจากอาหารออกมาใช้งานได้
ดังนั้นเมื่อร่างกายมีระดับฟอสฟอรัสผิดปกติ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ อาทิเช่น รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดกระดูก และเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจได้ ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสในปริมาณที่หมาะสมจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก ทาง privatespacescience2017.com จึงนำเกร็ดมาฝากกัน
ระดับฟอสฟอรัสที่เหมาะสมในร่างกาย
เมื่อร่างกายได้รับฟอสฟอรัส ส่วนหนึ่งร่างกายจะดูดซึมไปใช้งาน อีกส่วนหนึ่งจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ และอุจจาระ ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในกระแสเลือด ดังนั้นเมื่อประสิทธิภาพในการขับฟอสฟอรัสของร่างกายลดลง หรือได้รับฟอสฟอรัสไม่เพียงพอ ก็จะสามารถตรวจสอบได้จากระดับฟอสฟอรัสในเลือดได้
- ระดับฟอสฟอรัสในเลือดที่ปกติ คือ 3.5 – 5.5 mEq/L
- ระดับฟอสฟอรัสในเลือดที่ต่ำผิดปกติ คือ < 3.5 mEq/L
- ระดับฟอสฟอรัสในเลือดที่สูงผิดปกติ คือ > 5.5 mEq/L
ประโยชน์ของฟอสฟอรัสต่อร่างกาย
- ควบคุมการทำงานของร่างกาย ฟอสฟอรัสเป็นสารที่ช่วยควบคุมการทำงานของต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น ข้อต่อ เส้นประสาท และช่วยถ่ายเทออกซิเจนจากปอดเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อนำไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย
- บำรุงกระดูก ฟอสฟอรัสส่วนมากในร่างกายจะถูกกักเก็บเอาไว้ในกระดูก เพื่อเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง จึงช่วยลดความเสี่ยงปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับกระดูก เช่น กระดูกพรุน กระดูกเปราะ กระดูกหัก แต่หากรับประทานฟอสฟอรัสมากเกินไป อาจส่งผลให้กรดในเลือดสูง ซึ่งจะกลายเป็นหินปูนสะสมในหลอดเลือด และนำไปสู่ปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
ปริมาณฟอสฟอรัสที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน แต่ละช่วงวัยของมนุษย์มีความจำเป็นที่จะต้องใช้งานฟอสฟอรัสแตกต่างกัน ดังนี้
- ทารกวัยแรกเกิด – 6 เดือนควรได้รับฟอสฟอรัส 100 มิลลิกรัม/วัน
- ทารกอายุ 6 – 11 เดือนควรได้รับฟอสฟอรัส 275 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 1 – 3 ปีควรได้รับฟอสฟอรัส 460 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 4 – 8 ปีควรได้รับฟอสฟอรัส 500 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก และวัยรุ่นอายุ 9 – 18 ปีควรได้รับฟอสฟอรัส 1,000 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปควรได้รับฟอสฟอรัส 700 มิลลิกรัม/วัน หรือที่ระหว่าง 800 – 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
- หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรรับประทานมากกว่า 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
อาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัสสูงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- ฟอสฟอรัสในอาหารตามธรรมชาติ ฟอสฟอรัสประเภทนี้ร่างกายจะสามารถดูดซึมได้ประมาณร้อยละ 40 – 60 ได้แก่ นม และผลิตภัณฑ์จากนม ธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ไข่แดง และผลิตภัณฑ์ที่มีไข่แดงเป็นส่วนประกอบ ไข่ปลา สัตว์ที่สามารถรับประทานได้ทั้งกระดูกและเปลือก แมลง เนื้อสัตว์ และเครื่องในสัตว์ เป็นต้น
- ฟอสฟอรัสในรูปสารสังเคราะห์ พบมากในสารปรุงแต่งอาหาร หรือสารกันบูดที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ฟอสฟอรัสประเภทนี้ร่างกายสามารถดูดซึมได้มากกว่าร้อยละ 90 หรือเกือบทั้งหมด ดังนั้นหากเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาฟอสฟอรัสในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทนี้ ตัวอย่างเช่นเนื้อสัตว์แปรรูป อาหารแปรรูป อาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง อาหารที่มีผงฟู และยีสต์ เป็นส่วนประกอบ และเครื่องดื่มสำเร็จรูปบรรจุกระป๋องหรือขวด เป็นต้น
ผลกระทบหากระดับของฟอสฟอรัสที่ ต่ำ-สูง เกินไป ?
1.ระดับฟอสฟอรัสที่ต่ำเกินไป หรือ Hypophosphatemia การแสดงจะขึ้นกับสาเหตุ ระยะเวลา และระดับความุรนแรงของภาวะที่ขาดฟอสเฟต มีทั้งอาการแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง
โดยมากอาการจะไม่ชัดเจน แต่หากมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดต่ำรุนแรง อาการปรากฎ คืออ่อนเพลีย ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อเนื่องจากเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) ภาวะนี้อาจเกิดจากโรคบางชนิด เช่นโรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือโรคที่ต้องรับประทานยาลดกรดอย่างต่อเนื่อง เพราะจะส่งผลให้ระดับฟอสฟอรัสในร่างกายต่ำลงผิดปกติได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้ควรเข้ารับการรักษาเพื่อควบคุมอาการ เลือกบริโภคอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงอย่างสม่ำเสมอ
2.ระดับฟอสฟอรัสที่สูงเกินไป หรือ Hyperphosphatemia บางครั้งอาการปรากฏอาจค้ลายคลึงกับภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia) ได้แก่รู้สึกปวดกล้ามเนื้อ ชักกระตุก รู้สึกชาบริเวณรอบปาก ปวดกระดูกและข้อต่อ รู้สึกคัน และเกิดผื่นขึ้นตามร่างกาย ผู้ป่วยบางรายที่ป่วยเป็นโรคไตอาจเกิดภาวะของเสียคั่งในเลือด (Uremic Symptoms) ร่วมด้วย ผ็ป่วยมักรู้สึกอ่อนเพลีย หายใจได้ไม่อิ่ม คลื่นไส้ อาเจียน และมีปัญหาในการนอนหลับ
บางครั้งอาจพบผู้ป่วยที่มีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับฟอสฟอรัสทางหลอดเลือดดำ เนื่องจากเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือเกิดภาวะเลือดมีแคลเซียมต่ำ เช่นมือกระตุก กล้ามเนื้อรอบดวงตากระตุก ระบบประสาทตอบสนองไวกว่าปกติ นิ้วเหยียดเกร็ง และเกิดอาการชัก
โดยทั่วไปภาวะฟอสเฟตในเลือดสูงผิดปกติ เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก พบในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องไต และผู้ที่มีกระบวนการการควบคุมแคลเซียมในเลือดบกพร่อง นอกจากนี้หากได้รับฟอสฟอรัสสูงในขณะที่ร่างกายได้รับแคลเซียมน้อยเกินไป ก็อาจทำให้เกิดภาวะฟอสฟอรัสสูงได้เช่นกัน
ข้อชี้แนะ-ข้อควรระวัง ในการทานฟอสฟอรัส
ข้อแนะนำในการรับประทานฟอสฟอรัส โดยเฉพาะเมื่อรับประทานฟอสฟอรัสในรูปแบบอาหารเสริม อาหารเสริมจากธรรมชาติที่มีปริมาณฟอสฟอรัสสูงคือโบนมีล (Bonemeal) หากรับประทานควรรับประทานวิตามินดีร่วมด้วย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึม และต้องระวังไม่ให้มีสารตะกั่วเจือปน ที่สำคัญ ควรรับประทานแคลเซียมให้มากกว่าฟอสฟอรัส 2 เท่า
ส่วนผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นแนะนำให้รับประทานผักใบเขียวและดื่มนมแทนเนื้อสัตว์ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ไตจะไม่สามารถขับฟอสฟอรัสออกมาได้ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้เกิดภาวะแคลเซียมต่ำได้ และผู้ที่รับประทานฟอสฟอรัสมากเกินไป อาจส่งผลให้แร่ธาตุในร่างกายเสียสมดุล ทำให้แคลเซียมลดลงได้เช่นกัน ดังนั้นการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่จึงสำคัญและจำเป็นเป็นอย่างมาก
บทความที่เกี่ยวข้องอื่นๆ