ภายใต้ดินแดนแห่งห้วงสมุทรอันกว้างไกลสุดหล้า มีชีวิตน้อยใหญ่มากมายอาศัยอยู่ บางตัวนั้นเห็นได้ด้วยตาเปล่า บ้างก็ล่องหนจนแทบแลไม่เห็น ทว่าทั้งหมดนี้ต่างเป็นของขวัญสุดล้ำค่าที่ท้องทะเลและโลกได้ฝากไว้ให้จดจำ
แพลงก์ตอนก็เช่นกัน
แม้ว่าปัจจุบันเหล่าแพลงก์ตอนจะเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ต้นไม้แห่งท้องทะเล’ ที่ช่วยกอบกู้โลกและมวลมนุษยชาติไว้ก็ตาม ทว่าน้อยคนนักจะล่วงรู้ว่าแพลงก์ตอนนั้นจะมีประโยชน์ในฐานะอาหารทางเลือกของมนุษย์
หลายคนคงประหลาดใจมากเหมือนกันว่าแพลงก์ตอนซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตของเหล่าสัตว์ทะเลจะกลายสภาพเป็นอาหารของมนุษย์ได้อย่างไร สาหร่ายทะเล? แมงกะพรุนทอด?
ทุกข้อสงสัยล้วน pop up ขึ้นมาในหัวเต็มไปหมด แต่กลับนึกภาพไม่ออกว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไรถึงทำให้ตัวมันถูกยกระดับความสำคัญให้เป็น Alternative food Source
บางทีมันอาจมาจากปัญหาที่เราเห็นเป็นปรกติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็เป็นได้
Phytoplankton: การผลิดอกของพืชแห่งท้องทะเลในโลกยุคใหม่
Phytoplankton คงเป็นหนึ่งในตัวแทนของเหล่าแพลงก์ตอนที่ตอบคำถามนี้ได้ดี
แม้ว่าแพลงก์ตอนพืชจะมีสารพัดประโยชน์ที่คอยโอบอุ้มมวลชีวิตด้วยการผลิตออกซิเจนจำนวนมหาศาลให้ได้หายใจในทุกวัน
ทว่าประเด็นดังกล่าวคงมิได้สลักสำคัญมากไปกว่าการเป็น ‘ทางเลือก’ ไว้คอยรองรับปัญหาประชากรล้นโลก ความต้องการที่ล้นเมือง และผลลัพธ์จากการเพาะเลี้ยงปลาบนบกไม่เป็นดั่งใจ
ตอนนี้เองที่เหล่าแพลงก์ตอนพืชหรือ Phytoplankton ซึ่งเป็นดั่งขุมทรัพย์ Omega 3 แห่งใหม่จะเริ่มผลิดอกผลสู่ความต้องการอันท่วมท้นของตลาด
หลังจากต้องเผชิญวิกฤตการลดลงอย่างต่อเนื่องของกรดไขมัดโอเมก้า 3 (Omega 3) ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เหตุผลหนึ่งก็เพราะว่าแพลงก์ตอนพืชสามารถแพร่พันธุ์และเติบโตได้รวดเร็ว
ซึ่งข้อดีนี้เองที่ทำให้เราสามารถปรับปรุงสายพันธุ์ให้มีลักษณะเฉพาะในระยะเวลาอันสั้น
ญี่ปุ่นจึงเป็นหนึ่งในชาติผู้บุกเบิกในการนำแพลงก์ตอนมาใช้ประกอบอาหาร โดยมหาวิทยาลัยโตเกียวและภาคเอกชนหลายแห่งของญี่ปุ่นร่วมกันวิจัยแพลงก์ตอนสังเคราะห์แสงที่ทั่วโลกต่างรู้จักกันในชื่อ ‘สาหร่ายยูกลีน่า’ (Euglena)
ซึ่งขยายพันธุ์ได้ไวกว่าป่าฝนเขตร้อนมากกว่า 10 เท่า อีกทั้งยังอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน กรดอะมิโน และกรดโอเมก้า 3 ที่มีส่วนสำคัญต่อระบบการทำงานของประสาทและสมอง ซึ่งเหมาะสมกับคนยุคใหม่อย่างมาก
แพลงก์ตอน Mix & Match: มอบชีวิตพร้อมแต่งแต้มประสบการณ์เพียงรูปรสกลิ่นสัมผัส
จากขุมทรัพย์แห่งธาราสมุทร สู่อาหารที่มอบประสบการณ์สุดละเมียดละไมยามลิ้มลองต้องสัมผัส
แพลงก์ตอนพืชจึงไม่ได้เป็นเพียงแหล่งอาหารทางเลือกแสนธรรมดาอีกต่อไป เมื่อเหล่าพ่อครัวชั้นนำของโลกต่างริเริ่มหยิบเล็กผสมน้อยจากแต่ละส่วนที่ดีที่สุด มารังสรรค์ใหม่จนก่อกำเนิดเมนูรักษ์โลก ที่มอบความรัก ความสุข และความบริบูรณ์… แก่ผู้ที่ได้ลิ้มลอง
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นค็อกเทล รีซอตโต หรือแม้แต่ข้าวหน้าอัลยอรี (Aioli tartar) ล้วนได้รับการแต่งแต้มด้วยแพลงก์ตอนอย่างมีสีสันชวนน่ารับประทาน พร้อมเสริมสร้างพลังกายซึ่งอุดมด้วยโภชนาการที่ครบครันอย่างมีศิลปะ
เหล่านั้นเองจึงทำให้แพลงก์ตอนดูเป็นงานวิจิตรศิลป์ที่มีชีวิต ที่สร้างโลกและชีวิตให้ดำรงอยู่ต่อไป
อย่างไรก็ดี เพื่อตอบโจทย์ Sustainability อย่างจริงจัง พวกเราจึงจำเป็นต้องร่วมช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศของสัตว์ต่าง ๆ ให้คงอยู่พอสำหรับต่อยอดความยั่งยืนทางธุรกิจ ที่โลกและชีวิตจะสามารถหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านภายใต้ความสมดุลที่ยืนยงนี้ต่อไปได้
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
แบรนด์ติ๊งก์. (2022). โลกร้อนเป็นเรื่องปากท้องและสุขภาพ ‘กรดไขมันโอเมก้า 3’ กำลังลดลงเพราะมนุษย์ทำน้ำทะเลร้อนขึ้น. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2565, จาก https://www.brandthink.me/content/omega-3
Piers Moore Ede. (2017). Could Marine Phytoplankton Be the future Of Human Nutrition?. 23 November 2022, derived from https://www.spiritofchange.org/could-marine-phytoplankton-be-the- future-of-human-nutrition/
Peter Smith. (2021). Plankton: The Most Sustainable Seafood. 23 November 2022, Derived from https://www.fastcompany.com/2680062/plankton-the-most-sustainable-seafood